สำนักข่าว : เพจ ขอนแก่นซิตี้
URL :
https://www.facebook.com/290488814319236/posts/4139912366043509
วันที่เผยแพร่ : 8 ก.พ. 2564
มข.จัดทำพิธีบำเพ็ญกุศล เพื่อการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการการแพทย์เฉพาะทางชั้นเลิศ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาคาร 20 ชั้นและคอมเพล็กซ์ เพื่อรองรับผู้ป่วยเพิ่มจำนวน 600 เตียง กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จต้นปี 2568
.
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ ลานอาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีอนุสรณ์(ตึกสว.) คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลเพื่อการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการการแพทย์เฉพาะทางชั้นเลิศ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการนี้ พระเดชพระคุณ หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก เมตตาเป็นองค์ประธานในพิธีสวดมนต์ บริเวณจุดก่อสร้างอาคาร
.
โดยมีรศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยอดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์มหาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทย์พยาบาลตลอดจน บุคลากร ร่วมพิธี อย่างพร้อมเพียง
.
โดยพิธีสวดมนต์ในช่วงเช้า ที่ลานอาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีอนุสรณ์ (ตึกสว.) คณะแพทย์ฯมีหลวงปู่จื่อ วัดเขาตาเงาะอุดมพร อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ เมตตาเป็นองค์ประธาน ซึ่งด้านหลังของ บริเวณพิธี คือตึกมหิตลานุสรณ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ ซึ่งได้รับพระราชทานนามจากพระสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระสวามี สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นที่สังเกตว่า ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แห่งนี้มีอนุสรณ์สถานสมเด็จพระราชบิดาและพระราชมารดาในหลวงร. 9 ได้ตั้งอยู่เคียงกัน
.
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผย ความเป็นมาของการก่อสร้างการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการการแพทย์เฉพาะทางชั้นเลิศ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าจากการที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นศูนย์กลางรับส่งผู้ป่วยของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงบางส่วนของจังหวัดทางภาคเหนือตอนล่าง แต่ละปีมีผู้ป่วยจำนวนมากมาเข้ารับบริการ แบ่งเป็นผู้ป่วยนอก ประมาณ 1 ล้านคนต่อปี และผู้ป่วยใน 52,000 คนต่อปี แม้จะมีการขยายการบริการจนมีขนาด 1,400 เตียง แต่ก็ยังไม่สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นได้ ตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2551 จึงได้อนุมัติหลักการให้คณะแพทยศาสตร์ศึกษาความเป็นไปได้และริเริ่มโครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เพื่อสามารถตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
.
โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพชั้นเลิศ (Medical hub) ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและอนุภาคลุ่มน้ำโขงที่สามารถให้บริการอย่างเพียงพอและเป็นการแก้ปัญหาสุขภาพที่สำคัญของภูมิภาค และใช้เพื่อการพัฒนาการเรียนการสอน การฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุข พัฒนาการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยความร่วมมือของคณะวิชาในศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ ตลอดจนสถาบันในต่างประเทศ
.
อาคารศูนย์บริการการแพทย์เฉพาะทางชั้นเลิศ ประกอบด้วย อาคารสนับสนุนบริการทางการ แพทย์ อาคารจอดรถ และอาคารเรือนพักญาติ รวมพื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้น 197,424 ตร.ม. ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 4,346,357,200 บาท ภายหลังการเสร็จสิ้นโครงการจะช่วยยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้ทัดเทียมนานาชาติ รวมถึงลดปัญหาความไม่เพียงพอของปริมาณเตียงผู้ป่วย ในด้านการเรียนการสอนจะเพิ่มศักยภาพการผลิตผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์สาขาต่างๆ รวมถึงบุคลากรที่สำคัญทางการสาธารณสุข นอกจากนี้ในด้านของการวิจัยจะสามารถนำข้อมูลจากการดูแลผู้ป่วยมาสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ สร้างเครือข่ายในการทำวิจัยร่วม และสร้างงานวิจัยที่แก้ปัญหาสาธารณสุขให้ประเทศได้