ตั้งคำถามก่อนซื้อ… เปลี่ยนส้มอมพิษเป็นส้มปลอดภัย

สำนักข่าว: ฐานเศรษฐกิจ

URL: https://www.thansettakij.com/content/strategy/466391

วันที่เผยแพร่: 30 ม.ค. 2564

“ส้ม” ผลไม้ยอดฮิตที่มีคุณค่าทางโภชนาการ อร่อย หากินง่าย แถมยังเป็นมงคลด้วยผลสีทอง แต่จากการสำรวจโดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai-PAN) พบว่า ส้ม 1 ผล มีสารเคมีตกค้างมากถึง 55 ชนิด โดยเฉลี่ยถึง *0.364 มิลลิกรัม ซึ่งเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL) โดยเป็นสารเคมีตกค้างชนิดดูดซึม ที่ไม่สามารถล้างออกได้ถึง 28 ชนิด

จากการสุ่มตรวจในหลายๆ ครั้ง ยังพบสารเคมีที่เกินมาตรฐาน แต่กลับยังคงวางขายกันปกติ เพราะยังไม่เคยมีการบังคับใช้มาตรฐานอาหารปลอดภัยอย่างเข้มงวดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟมประเทศไทย (Oxfam) ภายใต้แคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก (Dear Consumers)” ได้จัดกิจกรรม “Orange Spike เราไม่เอาส้มอมพิษ” ร่วมกันรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักว่า ส้มมีกระบวนการผลิตที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการตกค้างของสารเคมี ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค

 

กิจกรรมครั้งนี้ ได้เชิญชวนให้ภาคประชาชนร่วมขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลง และหวังว่าจะให้กลไกลตลาดผลักดันให้กระบวนการผลิตส้มปลอดภัยกว่าที่เป็นอยู่ โดยร่วมกันลงนามเรียกร้องให้ผู้จำหน่ายส้ม โดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตหรือโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ พร้อมติด QR Code เพื่อพิสูจน์ว่าส้มที่ขายไม่มีสารพิษ ที่ www.dearconsumers.com/th/petitionเพราะนี่คือสิทธิที่ผู้บริโภคควรรู้ เพราะกส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ระบุว่าผู้บริโภคมีสิทธิขอทราบข้อมูลและความปลอดภัยอย่างเป็นธรรม รวมถึงสิทธิในการเรียกเงินชดเชยจากร้านค้าที่นำสินค้าเกษตรค่าสารเคมีเกินมาตรฐานมาจำหน่ายได้ ตั้งคำถามก่อนซื้อ… เปลี่ยนส้มอมพิษเป็นส้มปลอดภัย

​ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงสถิติที่น่าสนใจจากอันตรายในสารพิษเรื้อรัง โดยการเจ็บป่วย เช่น โรคมะเร็งทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่อง 85,000 คนต่อปี และผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ย 122,757 คนต่อปี แม้แต่เด็กในท้องปัจจุบันยังพบสารเคมีในเลือด ในน้ำคร่ำ สิ่งเหล่านี้เป็นภัยเงียบภัยคุกคามที่อันตรายต่อทุกคน

 

การกระตุ้นให้ซูเปอร์มาร์เก็ตจัดทำ QR Code สามารถบอกข้อมูลมากกว่าแหล่งที่มา แม้โดยรวมยังให้ข้อมูลไม่มากพอ ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง ไม่มีการระบุว่าสินค้าเกษตรนั้นใช้สารอะไร แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเริ่มเปลี่ยนแปลง หากภาครัฐเข้ามาช่วยผลักดัน ลงงบฯ วิจัยจริงจังกับการใช้สารเคมีเหล่านั้นให้มากขึ้นด้วยแล้ว ย่อมส่งผลดีกับสุขภาพคนไทยในระยะยาว อาจแจกแจงไปถึงขั้นแสดงงบประมาณซื้อสารเคมีที่แปลงเกษตรเหล่านั้นใช้ต่อปี เพื่อประเมินข้อเท็จจริง รวมถึงข้อมูลที่แสดงว่าซูเปอร์มาร์เก็ต สามารถช่วยให้เกษตรกรมีสุขภาพดีขึ้นได้จริง พร้อมข้อมูลด้านโภชนาการเพิ่มเติมตั้งคำถามก่อนซื้อ… เปลี่ยนส้มอมพิษเป็นส้มปลอดภัย

 

​เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ ตัวแทนผู้บริโภคและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม แสดงความคิดเห็นว่า เรื่องสารเคมีตกค้างในส้ม เป็นเรื่องที่ได้ยินมานาน และเชื่อว่าไม่มีผู้บริโภคอยากทานส้มที่มีสารเคมีตกค้าง แต่ด้วยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีในการเกษตรหรือผลเสียจากการได้รับสารเคมีเหล่านี้มีน้อยมาก และรู้สึกเป็นเรื่องค่อนข้างไกลตัว การเลือกซื้อส้มของผู้บริโภค ก็เน้นที่จะเลือกซื้อจากแหล่งที่ตัวเองเชื่อถือ ว่ามีการตรวจสอบความปลอดภัยแล้วระดับหนึ่ง เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต

หากแนวทางที่นำเสนอการตรวจสอบย้อนกลับที่มาของอาหาร ผ่าน QR Code สามารถทำได้จริงอย่างโปร่งใส ผู้บริโภคก็จะสามารถเลือกส้มที่ปลอดภัยทานได้อย่างมั่นใจและยินดีที่จะได้ช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกส้มอย่างปลอดภัย ดังนั้นการขอส้มที่ปลอดภัยจริงๆ จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเราควรถามหาได้

เพราะฉะนั้น การร่วมลงนามในข้อเรียกร้องให้ผู้จำหน่ายส้มจึงเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคควรตระหนักโดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตหรือโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ โดยติด QR Code เพื่อพิสูจน์ว่าส้มที่ขายไม่มีสารพิษ ได้ที่ www.dearconsumers.com/th/petition ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ทาง facebook.com/DearConsumers (เพจ ผู้บริโภคที่รัก)

ผู้บริโภคต้องรู้สิทธิของตัวเอง เริ่มตั้งคำถามก่อนซื้อ และตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของอาหาร (Traceability) ผ่านการสแกน QR Code

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,648 วันที่ 28 – 30 มกราคม พ.ศ. 2564

Scroll to Top