สำนักข่าว: ผู้จัดการออนไลน์
URL: https://mgronline.com/local/detail/9640000000593
วันที่เผยแพร่: 5 ม.ค. 2564
ศูนย์ข่าวขอนแก่น – ม.ขอนแก่นรุกส่งเสริมเกษตรกรปลูกบัวบกแบบอินทรีย์ เผยเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ พร้อมรับซื้อราคาสูงถึง กก.ละ 700 บาท ต่อยอดเป็นสารสกัดเวชสำอาง อาหารสุขภาพ พบมีประโยชน์สูง ลดความเสื่อมเซลล์ร่างกาย เพิ่มความจำ
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์การเรียนรู้สมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นประธานเปิดตัวเศรษฐกิจชุมชนในลักษณะ BCG Economy เช่น Bio-Economy เศรษฐกิจชีวภาพครบวงจร โดยมีการส่งเสริมการปลูกบัวบก ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจใช้วิธีปลูกแบบอินทรีย์ไม่มีสารปนเปื้อน เพื่อนำมาสกัดเป็นสารสำคัญและนำไปต่อยอดเป็นสารสกัดทางเวชสำอาง, อาหารสุขภาพ และยาสมุนไพร
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนหนองหญ้าม้า ต.หนองเหล็ก อ.โกสุมวิสัย จ.มหาสารคาม ในฐานะชุมชนต้นแบบเกษตรอินทรีย์ มาร่วมปลูกบัวบก และร่วมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในลักษณะ BCG Economy หรือ Bio-Economy เศรษฐกิจชีวภาพครบวงจร ส่งเสริมการปลูกบัวบก ด้วยการปลูกแบบอินทรีย์ไม่มีสารปนเปื้อน จุดประสงค์เพื่อนำมาสกัดเป็นสารสำคัญ นำไปต่อยอดเป็นสารสกัดทางเวชสำอาง, อาหารสุขภาพ และยาสมุนไพร ซึ่งคณะเภสัชศาสตร์ มข.เป็นหน่วยงานรับซื้อบัวบกแห้ง ในราคากิโลกรัมละ 700 บาท
รศ.ดร.ไพบูลย์ ดาวสดใส คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มข. กล่าวว่า บัวบก (Gotu kola) ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Centella asiatica (L.) Urb. จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญตัวหนึ่ง จะถูกแปรรูปเป็นสารสกัดให้เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ บัวบกมีประโยชน์มาก มีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย สารสำคัญที่พบในบัวบกจัดอยู่ในกลุ่มไตรเทอปีนอยด์ไกลโคไซด์ (Triterpenoid glycoside) ประกอบด้วยกรดเอเชียติก (Asiatic acid) สารเอเชียติโคไซด์ (Asiaticoside) กรดแมดีแคสซิค (Madecassic acid) และสารแมดีแคสซอล (Madecassol)
ประโยชน์ สามารถลดความเสื่อมของเซลล์อวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้ ช่วยเร่งสร้างสารคอลลาเจนที่ทำให้ผิวพรรณดี ลดรอยเหี่ยวย่น จึงมีการนำบัวบกมาใช้ประโยชน์กระตุ้นให้แผลสมานตัวได้เร็ว โดยพืชบัวบกจัดอยู่ในบัญชียาสมุนไพรแห่งชาติ ทั้งในรูปแบบยาทาภายนอก ลดอาการฟกช้ำ ทั้งมีรายงานว่าใบบัวบกมีประโยชน์ทางการแพทย์ ช่วยบำรุงประสาท ความจำเพิ่ม, การไหลเวียนเลือด, บำรุงหัวใจ, บำรุงตับ เป็นต้น
รศ.ดร.ไพบูลย์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังนำใบบัวบกมาสกัดด้วยเทคโนโลยีทางเภสัชกรรม เช่นสกัดด้วยเครื่องไมโครเวฟและเครื่องสกัดแรงดันสูง (Supercritical Fluid Extraction (SFE) เครื่องสกัดแบบร้อนและเย็น เพื่อให้ได้สารสำคัญสูงขึ้น และสะดวกนำไปเป็นสารตั้งต้นพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งอาหารเสริม เครื่องสำอาง และยาสมุนไพร
ดังนั้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์บัวบกอย่างครบวงจร ตั้งแต่ส่งเสริมปลูก ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น จะทำให้ได้วัตถุดิบมีคุณภาพ สามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ก่อเกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนใจ ส่งเสริมรายได้สู่ภาคเกษตรกรรมและชุมชน ซึ่งบัวบกสามารถปลูกในรอบปีได้ 3 ครั้ง ครั้งละ 3 เดือน
ด้าน นายธวัช รัตนมนตรี ผู้อำนวยการกองบริหารงานสำนักบริการวิชาการ มข. กล่าวว่า สำนักบริการวิชาการก่อตั้งมาเป็นปีที่ 37 เรามีชุมชนต้นแบบไว้คอยสนับสนุน ยกระดับชุมชน เช่น ปลูกเห็ด เลี้ยงสัตว์ นำอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นลงพื้นที่ ตลอดระยะ 30 กว่าปี ได้เห็นผลิตภัณฑ์พืชสมุนไพร คณะเภสัชได้นำเอาผลิตภัณฑ์นั้นมาแปรรูปหรือสกัดเป็นสาร ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่จะสกัดให้เกิดมูลค่าสูง
ที่ผ่านมาได้ใช้เงินลงทุน 10-20 ล้านบาทเพื่อยกระดับเกษตรกรให้มีมาตรฐานในการปลูกพืช และการเลี้ยงสัตว์ต่างๆ แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงมีความคิดจะยกระดับเศรษฐกิจไปอีกระดับ ด้วยการนำเทคโนโลยีขั้นสูงของคณะต่างๆ เช่น คณะวิทยาศาสตร์, คณะเภสัชศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะอื่นที่มีนวัตกรรมมาสกัดพืชให้เกิดสิ่งมีมูลค่ามากขึ้นได้
ด้าน นายเสถียร ยอดสิงห์ ประธานวิสาหกิจชุมชนหนองหญ้าม้า ต.หนองเหล็ก อ.โกสุมวิสัย จ.มหาสารคาม ต้นแบบของเกษตรอินทรีย์ กล่าวว่า ดีใจที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าไปซื้อใบบัวบกแห้ง ในราคากิโลกรัมละ 700 บาท เป็นราคาที่ดีมาก ถือเป็นขวัญกำลังใจให้วิสาหกิจชุมชนมีกำลังใจปลูกพืชบัวบก โดยชาวบ้านชุมชนหนองหญ้าม้าเริ่มปลูกกันแบบครอบครัว โดยรวมตัวกันปลูกประมาณ 7 ครอบครัว ใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 3 ไร่
ที่สำคัญ การปลูกบัวบก ชาวบ้านปลูกด้วยระบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี ซึ่ง 1 ปีจะสามารถปลูกได้ 3 รอบ โดยช่วง 3 เดือนแรกที่ปลูกจะเป็นช่วงยุ่งยาก จากนั้นจะปลูกง่าย สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วขึ้น ได้ผลผลิตดีขึ้น หากมหาวิทยาลัยขอนแก่นต้องการผลผลิตเพิ่ม ทางวิสาหกิจชุมชนสามารถหาเครือข่ายหรือเกษตรกรมาร่วมปลูกให้ได้