สำนักข่าว: nation 22
URL: https://www.nationtv.tv/main/content/378806384
วันที่เผยแพร่: 16 พ.ย. 2563
หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน ประชุมหารือแก้ปัญหาน้ำพองเน่าอย่างเป็นรูปธรรม หลังที่ผ่านมามีแต่การเสนอปัญหาแต่ไม่เคยมีทางออก ดันตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดแก้ปัญหาอย่างจริงจัง พร้อมดันเรื่องน้ำพองเน่าเป็นวาระของจังหวัด
16 พฤศจิกายน 2563 ณ ห้องประชุม 1 คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการเปิดเวทีวิชาการ ในหัวข้อแนวทางความร่วมมือในการเฝ้าระวังสุขภาพเชิงรุกจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม “โลหะหนักในบึงโจด จนถึงปรากฏการณ์น้ำพองสีดำ” เพื่อนำเสนอข้อมูลสถานการณ์และเสวนาแก้ไขปัญหาน้ำพองและบทเรียนการเฝ้าระวังสุขภาพเชิงรุก โดยมี นางวาทินี จันทร์เจริญ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น , นายชัยวัฒน์ ประกิระเค ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 , ผศ.เตือนใจ ดุลย์จินดาชบาพร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น , และนางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง มูลนิธิบูรณะนิเวศ เป็นผู้นำเสนอข้อมูลปัญหาต่าง ๆ ดำเนินรายการ โดยนายวิรัช มั่นในบุญธรรม โรงพยาบาลขอนแก่น พร้อมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ในพื้นที่ชุมชนน้ำพองเข้าร่วมในการเปิดเวทีวิชาการในครั้งนี้
การเสวนาเริ่มจาก นายชัยวัฒน์ ประกิระเค ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 ได้กล่าวถึงปัญหาของลำน้ำพองว่า ปัญหาหลัก ๆ คือ การลดลงของปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนฤดูกาล ซึ่งมีปัญหาออกซิเจนต่ำเกินมาตรฐานทำให้สัตว์น้ำไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ และปัญหาการชะล้างตะกอนแขวนลอย ทำให้เกิดปัญหาน้ำเป็นสีแดงในน้ำประปา และแอมโมเนียไนโตรเจนมากเกินกว่าค่ามาตรฐานอันตรายต่อสัตว์น้ำ อีกทั้งปัญหาปลาตาย น้ำชะขยะและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ
“ส่วนปรากฏการณ์น้ำพองเน่าเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เพราะน้ำมีกลิ่นและมีสีดำตั้งแต่บริเวณต้นน้ำที่ยังไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมและยิ่งบริเวณปลายน้ำเขื่อนหนองหวายก็ยังมีปัญหาเน่าเหม็นและสีดำเช่นกัน ซึ่งจากการตรวจอย่างลึกซึ้งพบว่า ทุกภาคส่วนมีส่วนที่ทำให้น้ำพองเน่าและเป็นสีดำ ทั้งจากฝนตกทำหญ้าเน่าและน้ำฝนชะล้างหน้าดิน รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ด้วย”นายชัยวัฒน์ กล่าว
ส่วนผศ.เตือนใจ ดุลย์จินดาชบาพร ได้ให้ความเห็นว่า ปัญหาน้ำเสียของน้ำพองส่วนใหญ่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ ใกล้น้ำพอง การที่จังหวัดอำเภอหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบอกกับเราว่า น้ำพองเน่าที่มาที่สีน้ำดำมาก เกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติมันก็ยากที่จะเชื่อ ถ้ามี 100 ส่วน อาจารย์เชื่อ 51 ส่วน 49 ส่วนต้องชวนกันวิเคราะห์ต้องวิเคราะห์ให้ลึกและต่อเนื่อง โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตั้งแต่ภาควิชาการ , หน่วยงานราชการ , รัฐวิสาหกิจ , เจ้าของโครงการ และชาวบ้านมาร่วมกันดำเนินการ
ด้านนางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง มูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้กล่าวถึง บทเรียนและพื้นที่รูปธรรมการเฝ้าระวังสุขภาพเชิงรุก ว่า บ้านเรายังขาดกฎหมายบางอย่างที่จะมาช่วยเราชี้ชัดว่าต้นเหตุนั้นคืออะไร แหล่งกำเนิดคืออะไร ซึ่งต่างประเทศได้มีกฎหมายนี้แล้วคือ กฎหมาย PRTR แต่ข้าราชการไทยยังไม่มีความเข้มแข็งพอที่จะบอกว่าประเทศไทยถึงเวลาแล้วที่จะมีกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งถ้ามีเราก็ไม่ต้องมาเถียงกันเลยว่าปัญหาเกิดจากโรงงานไหน
ในส่วนของการจัดเวทีวิชาการครั้งนี้ได้มีการให้นักวิชาการต่าง ๆ มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำเสียแนวทางความร่วมมือในการเฝ้าระวังสุขภาพเชิงรุกจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม “โลหะหนักในบึงโจด จนถึงปรากฏการณ์น้ำพองสีดำแล้ว ยังเปิดให้ผู้เข้าร่วมรับฟังครั้งนี้ได้ยกมือแสดงความคิดเห็นแนวทางเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ด้วย
โดย นางสมจิตร สีลาโพธิ์ ชาวบ้านอำเภอน้ำพอง ได้แสดงความคิดเห็นว่า เราเคยเสนอกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาอยากให้หน่วยงานต่าง ๆ ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้เห็นความสำคัญของประชาชนด้วยเนื่องจากประชาชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบ แต่ไม่เคยแก้ปัญหาได้สักครั้ง จึงอยากให้มีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
ด้านนายอกนิษฐ์ ป้องภัย นักพัฒนาองค์กรเอกชน กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาน้ำพองเน่ามีแต่การสะท้อนปัญหา แต่ไม่เคยมีการตั้งกรรมการแก้ไขอย่างจริงจัง จึงอยากเสนอให้ตั้งกรรมการแก้ปัญหาระดับจังหวัด พร้อมนำเรื่องน้ำพองเน่าเสนอเป็นวารของจังหวัดเพื่อจะได้ร่วมกันแก้ปัญหาอย่างบูรณาการและยั่งยืน