สำนักข่าว: กรุงเทพธุรกิจ
URL: ลิงก์
วันที่เผยแพร่: 15 ก.ย. 2563
สว. ผนึกศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) ม.ขอนแก่น จัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ “พลิกวิกฤต พิชิตโอกาส:SMEs ผงาดในตลาด รัสเซีย&มาเลเซีย” เปิดโอกาสผู้ประกอบการ นักธุรกิจ SMEsได้รับความรู้ เข้าใจช่องทางการส่งออกในตลาดสากล
ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลได้เพิ่มกำลังขับเคลื่อน SMEs เพื่อสร้างความเข้มแข็ง สร้างธุรกิจให้เติบโตครบวงจร ซึ่งกิจกรรมที่ได้ร่วมกับ ECBER มหาวิทยาลัยขอนแก่นนี้เป็นกิจกรรมส่งเสริม สร้างความรู้ความเข้าใจ และเปิดช่องทางให้แก่นักธุรกิจ SMEs ไทยภายใต้กรอบความร่วมมือธุรกิจ SMEs ไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศ+8 สามารถทำการค้าการลงทุนได้มากขึ้น
“ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ โคงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้แก่ SMEs ตามที่สสว.ได้ร่วมกับกรมบัญชีกลางเสนอไป โดย 30% ของ 1.3 ล้านล้านบาท มาซื้อสินค้าของ SMEs และถ้าต้องนำเสนอราคาแข่งกับบริษัทขนาดใหญ่ไม่เกิน 10% ธุรกิจ SMEs จะได้รับการพิจารณาเลือกซื้อก่อน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่กลุ่มธุรกิจSMEs” ดร.วิมลกานต์ กล่าว
ความต้องการของสินค้าของผู้บริโภคประเทศมาเลเซียและรัสเซียมีความแตกต่าง โดยมาเลเซียต้องการสินค้าบริโภค อย่าง ผลไม้ สินค้าทางการเกษตร ขณะที่รัสเซีย จะชอบสมุนไพรไทยอย่างมาก
ทั้งนี้ จากข้อมูลตลาดส่งออกของกลุ่มสินค้าเป้าหมาย SMEs ไทยประเภทอาหารเครื่องดื่ม และบริการ ในเดือนมกราคม ปี2563 พบว่า ประเทศไทยมีการส่งออกมูลค่ากว่า 587,494.39 ล้านบาท ทว่าด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ทุกประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบ วิกฤตเศรษฐกิจ การส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่ามาเลเซียมี 3 มิติ ที่มีต่อประเทศไทย คือ มิติแรก การเป็นคู่แข่ง มิติที่ 2 คู่ค้าสำคัญ และมิติที่ 3 เป็นเพื่อนบ้านที่สำคัญ ซึ่งในทางการค้า เศรษฐกิจ ไทยมีกรอบความร่วมมือการทำงานร่วมกับมาเลเซียจำนวนมาก ตลาดมาเลเซีย เป็นตลาดที่น่าจะง่ายสำหรับนักธุรกิจSMEs
เนื่องจากคนมาเลเซียคุ้นเคยสินค้าไทยทุกรายการ และควรจะเป็นสินค้าอาหารเป็นหลัก เพราะมาเลเซีย เป็นประเทศที่ผลิตอาหารได้ไม่พอบริโภค อีกทั้ง มาเลเซีย เป็นประเทศที่ไม่มีอาหารประจำชาติอย่างชัดเจน เขาคุ้นเคยกับอาหาร วิถีชีวิตของคนมาเลเซีย ดังนั้นควรศึกษาความต้องการของผู้บริโภคและการใช้สิทธิจากกรมภาษีอากรร่วมด้วย
“มาเลเซีย เป็นประเทศที่ร่ำรวย และมีความเป็นพหุสังคมอย่างมาก ในตลาดมาเลเซียมีกำลังซื้อสูง และนิยมสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ข้าว ผัก ผลไม้ ชอบรสนิยมแบบไทย เช่นเดียวกับ ฮาลาล ซึ่งไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่ต้องเข้าใจวิถีคิด ฉะนั้น ไม่อยากให้ทุกคนเป็นแม่ค้า แต่อยากให้เป็นนักธุรกิจระหว่างประเทศ ต้องมีการทำการตลาด และอย่าหาลูกค้าให้กับสินค้าเรา แต่ต้องหาสินค้าให้กับลูกค้า”นายอดุลย์ กล่าว
ตามมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มของประเทศ +8 (อาเซียน 10 ประเทศ และ อินเดีย รัสเซีย จีน เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อเมริกา) ในปี2562 พบว่า ตลาดหลัก (Matured Market) สูงที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา(17,856 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) รองลงมาคือ จีน (10,797 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ญี่ปุ่น (6,190 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)