มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ฝ่ายดิจิทัล จัดการสัมมนาออนไลน์ Digital Transformation 2020 : KKU Virtual Town Hall ในส่วนการเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ Aftermath in Education : แรงกระเพื่อมรุนแรงของภาคการศึกษา โดย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการเสวนาโดย รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันอังคาร ที่ 30 มิถุนายน 2563 ณ ห้องสมุดภูมิภิรมย์ อาคาร 50 ปี วิศวะรวมใจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวในการเสวนา Covid-19 Aftermath in Education : แรงกระเพื่อมรุนแรงของภาคการศึกษา ว่า การเรียนออนไลน์คือ Disruptive Technology ซึ่งมีมาก่อนโควิด-19 ขณะนี้คือมีมหาวิทยาลัยเสมือนจริง (Virtual University) เกิดขึ้นมาก ทั้งมหาวิทยาลัยที่เป็นมหาวิทยาลัยเสมือน 100 % หรือมหาวิทยาลัยปกติแต่มีการเพิ่มความเป็นมหาวิทยาลัยเสมือนเข้าไปซึ่งสมาถเปิดให้คนทั่วโลกได้เรียน ในสถานการณ์โควิด-19 ก็เห็นว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เปิดหลักสูตรให้สมัครเรียนฟรีมากมาย ส่งผลให้นักศึกษาได้มีโอกาสในการค้นคว้าและเปิดโลกทัศน์ให้เกิดทางเลือกในการเรียนรู้ของนักศึกษามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยขอนแก่นพยายามเปิดหลักสูตรที่น่าสนใจให้นักศึกษาหรือผู้ที่สนใจร่วมเรียนรู้ได้ ขณะนี้การศึกษาทั่วโลกอยู่ในยุค Community-Based ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลหรือ การเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์เป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่ง โดยเป็นส่วนสำคัญในการนำมาเสริมสร้างความรู้ซึ่งนักศึกษาสามารถเข้ามาเรียนในช่วงเวลาใดก็ได้ หรือมีการมอบหมายงานให้นักศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมใน E-Learning จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ อาทิ หลักสูตรออนไลน์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หรือ มหาวิทยาลัยเอ็มไอที เพื่อเป็นการศึกษาเพิ่มเติมจากแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ แต่ทั้งนี้การเรียนการสอนในชั้นเรียนยังคงมีความจำเป็นอยู่ โดยเฉพาะในส่วนของรายวิชาที่มีการอภิปรายและแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะเพื่อตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของนักศึกษา โดยที่การเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ก็ควรที่จะส่งเสริมควบคู่กันไป เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย การเรียนในชั้นเรียนยังคงมีความจำเป็นอยู่ หากไม่เรียนในชั้นเรียนอาจะต้องมีการปรับให้การเรียนรู้ในระบบออนไลน์ให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น แต่สิ่งท้าทายในการเรียนการสอนออนไลน์คือสาขาวิชาที่ต้องใช้การเรียนรู้ในลักษณะของการเพิ่มทักษะ อาทิ การเรียนการสอนด้านการแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ จึงมองไปยังปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่จะสามารถเข้ามาพัฒนาในส่วนนี้ได้
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล เพิ่มเติมว่าในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 ได้มีการสำรวจในเรื่องอุปกรณ์ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ก่อนการเปิดภาคเรียนในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พบว่า นักศึกษาที่ยังขาดอุปกรณ์เพื่อใช้ในการเรียนรู้มีร้อยละ 30 มหาวิทยาลัยขอนแก่นเล็งความสำคัญจึงได้ดำเนินการจัดหาอุปกรณ์เพื่อรองรับการเรียนรู้ของนักศึกษามากกว่า 2,000 ชุด โดยนักศึกษาสามารถยืมเพื่อใช้ในการเรียนรู้ และมีการเพิ่มแบนวิดท์ที่รองรับการใช้งานพร้อมกันมากกว่า 10,000 คน ซึ่งทางคณะต่างๆ ได้มีการสำรวจและเตรียมอุปกรณ์เสริมการเรียนรู้ อาทิ ไอแพด และอุปกรณ์จำเป็นอื่นๆ ให้กับคณาจารย์ ซึ่งหลายคณะมีการพัฒนาห้องเรียนในลักษณะห้องเรียนอัฉริยะ (Smart Classroom) ซึ่งอาจารย์สามารถบรรยายและจัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้
ด้าน รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า การเรียนการสอนออนไลน์จะยังคงอยู่และมีการพัฒนามากขึ้นในอนาคต มีความพยายามมาโดยตลอดเพื่อบทเรียนหรือหลักสูตรต่างๆ อยู่ในระบบออนไลน์เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ เเต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มีนโยบายให้มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยสามารถปรับตัวและจัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ยังคงเชื่อมั่นในการเรียนการสอนลักษณะของคนสู่คน เมื่อสถานการณืคลี่คลายจะกลับมาสู่การเรียนการสอนในห้องเรียน และการเรียนรู้ในระบบออนไลน์จะเป็นส่วนเสริมในการเรียนรู้ เพื่อให้นักศึกษาเข้าถึงความรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งนี้เมื่อเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือการพัฒนาของวิทยาการคอมพิวเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ พร้อมกับการผสานสิ่งที่มีอยู่เดิมให้เกิดการพัฒนามากยิ่งขึ้น อาทิ องค์ความรู้ด้านบัญชี หรือแม้กระทั่งความรู้ทางการแพทย์จะมีการพัฒนาไปสู่ปัญญาประดิษฐ์มากยิ่งขึ้น
ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการใช้ดิจิทัลร่วมในการจัดการเรียนการสอน อาทิ การเรียนรู้ด้วยดิจิทัล หรือบทเรียนออนไลน์ อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อมีวิกฤตโควิด-19 ทำให้ทราบว่าสิ่งที่ดำเนินการอยู่ต้องมีการยกระดับและพัฒนาให้เพียงพอ พร้อมกับการเก็บข้อมูลการใช้งานของนักศึกษาหรือ Learning Analytics เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาระบบจัดการการเรียนการสอนออนไลน์ หรือ Learing Managment System ใหสอดคล้องกับการใช้งานและวัดผลการเรียนู้ของนักศึกษาได้แม่นยำยิ่งขึ้น ควบคู่กับการปรับปรุงระบบการเข้าใช้งานอินเตอร์เน็ตให้นักศึกษาเข้าเรียนออนไลน์จากที่ใดก็ได้ให้สะดวกและราบรื่นขึ้น ทั้งนี้มีการดำเนินการในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและฝึกอบรมคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้สามารถใช้เครื่องมือใหม่ๆ ในระบบจัดการการเรียนการสอนออนไลน์ นอกจากการเรียนการสอนการพัฒนากระบวนการทำงานด้วยดิจิทัลก็เป็นส่วนสำคัญซึ่งนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน สร้างความประทับใจให้กับผู้รับบริการ เข้าถึงได้ง่ายรวดเร็วและตอบสนองความต้องการ
ข่าว : ณัฐวุฒิ จารุวงศ์
ภาพ : อรรถพล ฮามพงษ์ / ณัฐวุฒิ จารุวงศ์