https://www.youtube.com/watch?v=jy0jkQz4zfM&t=3s
— สำนักข่าว: KTV KhonKaen Cable network
https://www.youtube.com/watch?v=jUiSV…
วันที่เผยแพร่: วันที่ 1 พ.ค. 2563 —
เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 29 เมษายน 2563 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น นายกมลพงษ์ สงวนตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น นายทรงศักดิ์ ทองไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น นายยอดยิ่ง จันทนพิมพ์ ประธานสมาคมสันนิบาตเทศบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแพทย์หญิงทานทิพย์ ธำรงวรางกูล ประธานมูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีจังหวัดขอนแก่น ร่วมกันแถลงข่าวการดำเนินโครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตรกรรม หรือ อว. ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดทำขึ้นในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท่ามกลางความสนใจจากหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำองค์กรภาคเอกชน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินทุกมาตรการเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด ควบคู่ไปกับการกำหนดมาตรการเยียวยาและให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ซึ่งโครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งมาตรการการให้ความช่วยเหลือที่กระทรวง อว. ร่วมกับ มข. ได้กำหนดแผนการดำเนินงานร่วมกันในพื้นที่ 8 จังหวัด โดยมีพื้นทีเป้าหมายในการดำเนินโครงการ 300 พื้นที่ ด้วยการจ้างงาน 1,325 คน ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ หนองคาย ร้อยเอ็ด มหาสารคาม หนองบัวลำภู เลย และชัยภูมิ ในอัตราการจ้างเดือนละ 9,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อรองรับผลกระทบจากวิกฤติ และการพัฒนากำลังคนให้มีทักษะที่สูงขึ้นเพื่อรองรับ และตอบโจทย์ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) หลังโควิด ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการนั้น จะปฏิบัติหน้าที่ในงานด้านข้อมูล งานด้านวิเคราะห์และทำแผน งานด้านวิชาการและการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยที่ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาทไปแล้วจะไม่ได้รับการพิจารณาเข้าร่วมในโครงการนี้ ขณะที่ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน คือกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ว่างงานซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 รวมทั้งผู้สำเร็จแล้วแต่ยังหางานทำไม่ได้ ที่สนใจในการพัฒนาทักษะการทำงานใหม่ๆ จนนำไปสู่การต่อยอดความรู้ และร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนอย่างมีแบบแผน มีการพัฒนาแนวคิดที่เป็นต้นแบบและกลายเป็นทรัพยากรบุคคลสมัยใหม่ที่จะเกิดขึ้น ที่ในขณะนี้ มข.ได้ทำการเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้ว โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือประชาชนทั่วไป รวมทั้งบัณฑิตจบใหม่ที่ยังไม่มีงานทำ หรือผู้ที่จะเป็นผู้ประกอบการ ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ หนองคาย ร้อยเอ็ด มหาสารคาม หนองบัวลำภู เลย และชัยภูมิ ที่มีความสนใจในการพัฒนาทักษะการทำงานใหม่ๆ และไม่เป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างการกักตัวตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค โดยในโครงการดังกล่าวนี้ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มอบหมายให้ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ “ผู้ที่สนใจสามารถที่จะศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ www.kkuicop.com ซึ่งทุกคนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ มข.จะพิจารณาดำเนินการคัดเลือกจากข้อมูลของการสมัครและหลักฐานการประกอบการสมัคร โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือก จะจัดการสัญญาจ้างตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ถึงวันที่ 31 ต.ค.2563 ในหน้าที่และความรับผิดชอบ 3 งานหลัก คืองานด้านข้อมูล ที่จะทำหน้าที่ในการติดต่อประสานงานกับประชาชนในพื้นที่ อธิบายขั้นตอนการสำรวจและจัดทำข้อมูลด้านต่าง ๆ อาทิ โรคติดต่อชุมชน โครงการ Smart Farming ในชุมชน เกษตรปลอดภัยในชุมชน การจัดการขยะชุมชน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การบริหารจัดการน้ำชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน และคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ รวมถึงการชี้แจงรายละเอียด ถ่ายทอดองค์ความรู้ เผยแพร่ องค์ความรู้ นวัตกรรมของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและเครือข่ายการเรียนรู้ที่ร่วมกันดำเนินโครงการนี้ อันประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมสันนิบาตเทศบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีจังหวัดขอนแก่น และรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและมีความจำเป็น ทั้งความต้องการปัญหา อุปสรรคเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ ในพื้นที่” รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวต่ออีกว่า งานด้านวิเคราะห์และทำแผน ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะทำหน้าที่วิเคราะห์และกำหนดแผนดำเนินการร่วมกันกับที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ของ กระทรวงฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอีก 5 เครือข่ายที่ร่วมในแผนงานต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินงาน สุดท้ายคือ งานด้านวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี คือการทำหน้าที่นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตรกรรม ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมสันนิบาตเทศบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีจังหวัดขอนแก่น มาถ่ายทอดหรือฝึกอบรมในชุมชน เพื่อที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการแก้ปัญหาที่เป็นประเด็นสำคัญของพื้นที่ทั้งในเมืองและในชนบท อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป