คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ดร.พงศ์พันธุ์ ศรัทธาทิพย์ รองคณบดีฝ่ายอุตสาหกรรมสัมพันธ์และความยั่งยืน พร้อมด้วย นางสาวอาทิยา ทรัพย์พอกพูล พนักงานประจำห้องปฏิบัติการ นางสาวภัณฑิลา หิรัญโณ นักวิชาการศึกษา และนางสาวนันทพร คำสอนทา นักจัดการงานทั่วไป ชำนาญการ เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเป็นครูผู้สอน (Train The Trainer) ภายใต้โครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทยมืออาชีพ (Master Thai Chef Program)” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-10 มกราคม 2568 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 อาคารศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย สถาบันอาหาร กรุงเทพมหานคร สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โดยมีสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หรือ Thailand Creative Content Agency (THACCA) เป็นผู้ผลักดันนโยบาย One Family One Soft Power (OFOS) ด้านอาหาร รวมทั้งหมด 23 หลักสูตร เพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะให้แก่ครูผู้สอนในหลักสูตรเชฟอาหารไทยมืออาชีพ และยกระดับความสามารถในการประกอบอาชีพด้านอาหารไทยให้แก่บุคลากรและผู้สนใจ นอกจากนี้ยังส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยสู่การเป็น Soft Power ที่ยั่งยืนในตลาดโลก
การเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ยังช่วยยกระดับความรู้และบทบาทของบุคลากรคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดสู่ชุมชน นักศึกษา และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจตามประเด็นยุทธศาสตร์ของคณะฯ “Bridging Academia and Industry for Future Success” และ “Innovative Revenue Generation Initiatives” เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมกับนักวิจัยทางวิชาการ และพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างรายได้
สำหรับการต่อยอดโครงการฯ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มีกำหนดจัดโครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทยมืออาชีพ (Master Thai Chef Program) รุ่นที่ 1” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาทักษะการทำอาหารไทยให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นยกระดับสู่เชฟมืออาชีพ ระหว่างวันที่ 20 มกราคม ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ห้องประชุมดุสิตา ชั้น 5 สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และห้องปฏิบัติการอาหารและเครื่องดื่ม ชั้น 1 คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น