ชอบกิน ‘ซอยจุ๊’ อ่านทางนี้! แพทย์ มข.ชวนรู้จัก ‘พยาธิตืดหมู-ตืดวัว’ อันตรายใกล้ตัวที่ป้องกันง่าย ๆ ด้วยเคล็ดลับ ‘ปรุงสุก-ล้างสะอาด’

กลายเป็นประเด็นร้อนในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อเพจดังได้เผยแพร่โพสต์ผู้ป่วยที่แพทย์กำลังดึงพยาธิตัวตืดออกจากปากเพื่อทำการรักษา เนื่องจากมีอาการปวดท้องหลังรับประทาน ‘ซอยจุ๊’ มา จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์และความกังวลเป็นวงกว้างในสังคม วันนี้ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับความอันตรายและวิธีป้องกัน ‘โรคจากพยาธิตัวตืด’ ผ่านบทความนี้

‘พยาธิตัวตืดส่วนใหญ่ที่เข้าไปในร่างกายคนจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ พยาธิตืดหมู และพยาธิตืดวัว ที่ตัวอ่อนของพยาธิจะฝังอยู่ในเนื้อหมูหรือเนื้อวัว โดยมีลักษณะคล้ายเม็ดสาคู เมื่อคนรับประทานเนื้อดิบ ๆ ที่มีระยะตัวอ่อนนี้เข้าไป ภายในระยะเวลากว่า 2 เดือน พยาธิก็จะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยอยู่ในลำไส้เล็ก โดยขนาดตัวเต็มวัยยาวประมาณ 2-7 เมตร ซึ่งพยาธิเหล่านี้จะมีลักษณะเป็นเส้นแบน สีขาวขุ่นคล้ายเส้นบะหมี่’

รศ.ดร.พรทิพย์ เหลื่อมหมื่นไวย์ รองหัวหน้าสาขาวิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงที่มาของพยาธิตัวตืด เพิ่มเติมว่า หมูและวัวจะมีโอกาสได้รับพยาธิผ่านการกินเศษดิน เศษหญ้า หรือผักต่าง ๆ ที่มีการปนเปื้อนไข่พยาธิเข้าไปในตัว และพยาธิเหล่านี้ก็จะไปเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อน (cysticercus) ที่คล้ายเม็ดสาคูอยู่ในเนื้อหมูและเนื้อวัว เมื่อคนกินเนื้อหมูหรือเนื้อวัวที่มีระยะตัวอ่อนนี้ ตัวอ่อนจะไปเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยอยู่ในลำไส้เล็ก  นอกจากนี้คนที่รับประทานผักสดที่ปนเปื้อนไข่พยาธิตืดหมู (เกิดจากการนำอุจจาระคนมาทำเป็นปุ๋ยสดหรือรดด้วยน้ำที่ปนเปื้อนไข่พยาธิ) ก็จะทำให้พบระยะตัวอ่อนหรือเม็ดสาคูในอวัยวะต่างๆเหมือนที่พบในเนื้อหมูได้เช่นเดียวกันทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า cysticercosis

รศ.ดร.พรทิพย์ ระบุอีกว่า ความอันตรายของไข่พยาธิตืดหมู คือ เมื่อมันเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์แล้วจะค่อย ๆ เติบโตเป็นตัวอ่อนหรือเม็ดสาคูพบได้ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งสามารถเข้าไปในสมองจนทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า Neurocysticercosis ได้ นอกจากจะได้รับไข่พยาธิจากการรับประทานผักสดที่ปนเปื้อนแล้ว  คนที่มีพยาธิตัวเต็มวัยอยู่ในลำไส้ เมื่อปล้องสุกของพยาธิแตกทำให้ไข่หลุดออกมา  ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรค cysticercosis ได้

เช็กลิสต์ความเสี่ยง! เมื่อพยาธิตัวตืดเข้าสู่ร่างกาย

 

ขณะที่ ผศ.พญ.ธนิตา สุทธิชัยมงคล อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า หลังจากที่ตัวอ่อนพยาธิตืดวัวและตืดหมูเข้าสู่ร่างกายแล้ว พยาธิจะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้เล็ก ในคนที่ติดพยาธิจำนวนมากอาจนำไปสู่การอุดตันลำไส้และทะลักขึ้นไปในกระเพาะอาหาร จนทำให้เกิดอาการแน่นท้อง ปวดท้อง รู้สึกมีอะไรขยับอยู่ในท้อง เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน นอกจากนี้การที่ปล้องของพยาธิหลุดออกและเคลื่อนไปที่รูทวารทำให้รู้สึกเหมือนมีอะไรชอนไชอยู่ ทำให้มีอาการคันบริเวณรูทวารซึ่งส่วนใหญ่พบได้ในการติดพยาธิตืดวัว

“ลำไส้คนเราเหมือนท่อน้ำที่มีเนื้อที่จำกัด เมื่อติดพยาธิจำนวนมากก็จะทำให้จำเป็นต้องหาทางออก จนทะลักออกมาทางปากก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้”

เมื่อพยาธิตัวตืดกลายเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้เล็กก็จะเข้าไปแย่งสารอาหารในร่างกายคนเราได้ จนทำให้น้ำหนักลด ขาดสารอาหาร อ่อนเพลีย ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ทีมแพทย์โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็จะมีการตรวจวินิจฉัยโดยเก็บตัวอย่างอุจจาระไปตรวจหาไข่หรือปล้องของพยาธิ และรักษาด้วยยาฆ่าพยาธิ ร่วมกับยาระบายเพื่อขับให้พยาธิเหล่านั้นหลุดออกมา

หากพยาธิมีปริมาณมากจนทำให้ลำไส้อุดตันและคนไข้เกิดอาการท้องโต ไม่ถ่าย ไม่ผายลม อาเจียนขั้นรุนแรง ก็อาจต้องมีการผ่าตัดเพื่อนำพยาธิออกจากร่างกาย ซึ่งอาการแต่ละบุคคลก็จะขึ้นอยู่กับความถี่ในการรับประทานรวมถึงปริมาณที่รับประทานตัวอ่อนพยาธิเข้าไป ยิ่งรับประทานมาก รับประทานบ่อยจนได้ตัวอ่อนเข้าไปมาก พยาธิตัวเต็มวัยในร่างกายก็จะยิ่งมากขึ้น ทำให้เพิ่มโอกาสที่จะเกิดอาการรุนแรงและเกิดอาการได้เร็วขึ้น

“ตัวที่อันตรายและขึ้นสมองได้ คือ พยาธิตืดหมู เมื่อรับไข่เข้ามาในกระเพาะ น้ำย่อยในกระเพาะจะย่อยเปลือกไข่ทำให้เอมบริโอที่เรียกว่า oncosphere ที่อยู่ในไข่ออกมา เมื่อผ่านไปถึงลำไส้เล็ก จะใช้ส่วนที่เหมือนตะขอ (hook) ที่อยู่บริเวณส่วนหัว ไชเข้าไปในเส้นเลือดบริเวณนั้น แล้วไปตามระบบไหลเวียนเลือดไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ที่ตา ตับ ปอด และที่สมอง เจริญเติบโตเป็นตัวอ่อน (cysticercus) หรือเม็ดสาคู”

ผศ.พญ.ธนิตา ย้ำว่า การติดเชื้อที่สมองถือเป็นโรคที่มีความสำคัญทางคลินิกมาก อาการเริ่มต้นจะปวดศีรษะ หรืออาจเป็นมากก็จะชัก หมดสติ ซึ่งเป็นอาการส่วนใหญ่ที่พบในคนไข้ที่มารักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จึงอยากฝากทุกคนกินสุก สะอาด โดยเฉพาะหมูที่ไม่ได้มีเพียงพยาธิ แต่มีแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ด้วย เช่น ไข้หูดับ ไข้สมองอักเสบ ดังนั้น ควรกินสุก สะอาดจะปลอดภัยที่สุด


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คนไข้ที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์มีปริมาณลดลง แต่ในทางวิชาการมีข้อมูลว่า คนไทยพบเจอไข่พยาธิในอุจจาระอยู่ที่ค่าเฉลี่ยร้อยละ 1-3 แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับพื้นที่และพฤติกรรมการรับประทานด้วย อย่างในภาคเหนือหรือภาคอีสานเองก็จะนิยมรับประทานเนื้อดิบมากกว่า จึงทำให้มีโอกาสพบพยาธิตัวตืดได้มากกว่า

ทั้งนี้ ข้อควรระวังที่อยากฝากเอาไว้ คือ ไม่ควรรับประทานเนื้อดิบแล้วไปรับประทานยาฆ่าพยาธิตามจนเป็นนิสัย เพราะยาที่ซื้อมารับประทานนั้นก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะฆ่าพยาธิได้ทั้งหมดหรือไม่ ขณะเดียวกันยาฆ่าพยาธิเหล่านี้หากรับประทานมากเกินไปก็ส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับในอนาคตด้วย ดังนั้น เคล็ดลับสำคัญ คือ ควรรับประทานเนื้อหมูและเนื้อวัวที่ปรุงสุกเพื่อความปลอดภัย เพราะพยาธิตัวตืดเหล่านี้เพียงได้รับความร้อนก็จะตายได้ง่าย ๆ สำหรับคนที่ต้องการรับประทานผักสดก็ควรล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ รอบเพื่อชะล้างไข่พยาธิออกไป และถ้ามีพฤติกรรมเสี่ยงคือชอบรับประทานอาหารดิบหรือมีอาการสงสัย ควรไปพบแพทย์เพื่อขอรับการตรวจดีกว่าการซื้อยามารับประทานเอง

Scroll to Top