KKU Transformation : เปิดกลยุทธ์ปรับเปลี่ยนด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมสู่การผลักดัน มข.เป็นสถานที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

นับเป็นข่าวดีต้อนรับปีใหม่สำหรับชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังจากได้รับรางวัลสถาบันที่มีการจัดการด้านวิศวกรรมจราจรดีเด่นระดับประเทศ ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม ได้ขับเคลื่อนนโยบายมหาวิทยาลัยขอนแก่นบนพื้นฐานของข้อมูลจริงและงานวิจัย นำมาสู่การพัฒนาแนวทางการขับขี่ปลอดภัยภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั่นเอง

วันนี้ KKU Transformation จึงอยากชวนทุกคนไปเปิดแผนการวางรากฐานและพัฒนายุทธศาสตร์การสร้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เป็นที่น่าทำงาน (Best place to work) และการสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นที่น่าอยู่ (Great place to live) ร่วมกับ รศ.ดร.ชูพงษ์ ทองคำสมุทร รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม

ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้โจทย์มาว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นต้องน่าทำงาน น่าเรียน และน่าใช้ชีวิต ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ ต้องมี 4 หัวใจหลัก”

รศ.ดร.ชูพงษ์ ทองคำสมุทร รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม ขยายความว่า 4 หัวใจหลักในที่นี้ คือ Safety ปลอดภัย Handy ประโยชน์ใช้สอยและการดูแลรักษา Beauty ความสวยงาม Green การเป็นองค์กรที่คิดถึงสิ่งแวดล้อมและผลกระทบในอนาคต  ซึ่งส่วนนี้เกี่ยวข้องกับการประเมินสถานศึกษาและ Ranking ด้วย ทั้งหมดนี้ ต้องดูไปทั้ง 4 มิติพร้อมกัน ไม่ให้ขัดกัน ในทุก ๆ โครงการและนโยบาย

Safety ที่ทำไปแล้วคือเรื่อง Smart gate การติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในมหาวิทยาลัย รวมถึงการใช้ระบบ AI เข้ามาช่วยจัดการ โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีจุด Smart Security Center ที่ช่วยเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ได้ทันทีว่าจุดไหนภายในมหาวิทยาลัยที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ก็จะนำระบบวิศวกรรมจราจรเข้าไปบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยง และลดอุบัติเหตุ ขณะเดียวกันยังมีโครงการอบรมและสอบใบขับขี่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงสวมหมวกกันน็อก เคารพกฎจราจร และลดความเร็ว เพื่อขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นกลายเป็น KKU Smart city

Handy คือ การปรับปรุงอาคารเก่าที่มีคุณค่า เช่น ตึกคณะวิศวกรรมศาสตร์ และในอนาคตคอมเพล็ก และตึกสิริคุณากร หัวใจด้านการบริหาร ก็จะมีการปรับปรุง Beauty จะมีการปรับภูมิทัศน์ถนนทั้งสองเส้นทางตั้งแต่เจ้าพ่อมอดินแดงไปถึงวงเวียนหอแปดหลัง และจากวงเวียนหอแปดหลังไปที่สีฐาน เพื่อให้เป็นพื้นที่ Walking และ Forest ให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น Friendly มากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นมหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังได้นำงานวิจัยจากคณะต่าง ๆ เช่น คณะเกษตรศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะเทคโนโลยี เป็นต้น มาทำการปรับปรุงเพื่อให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น

และข้อสุดท้าย คือ Green หรือ Green university ที่ต้องทำหลายมิติมาก ทั้งการปลูกต้นไม้ ลดขยะ และแยกขยะ โดยเฉพาะขยะอาหาร เพื่อไม่ให้เกิดมลภาวะ และนำขยะเหล่านั้นไปต่อยอดในงานวิจัยต่อไป และลดการปล่อยคาร์บอน (Carbon neutrality) นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังมีการดำเนินการเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าและค่าใช้จ่าย ติดตั้งโซลาร์เซล เปลี่ยนระบบบำบัด ลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2568 – 2571 เพื่อกำหนดทิศทางการบริหารมหาวิทยาลัยในอนาคต ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ในวันที่ก้าวเข้าสู่ปีที่ 61 ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และต่อไปจะมีโครงการที่ออกมาต่อเนื่องร่วมกับหลาย ๆ ฝ่าย จึงอยากชวนทุกคนมาร่วมกันสร้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เป็นให้เป็นที่น่าทำงาน (Best place to work) และเป็นที่น่าอยู่ (Great place to live) เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนในมหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

Scroll to Top