การขับเคลื่อนโครงการวิจัยในครั้งนี้ นักวิจัยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดและนำส่งองค์ความรู้และนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่ายไปสู่การ up-skill re-skill และเพิ่ม new skill เพื่อพัฒนาการแสดงหมอลำให้เติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้ทุนทางวัฒนธรรมที่คณะหมอลำมีมาแต่เดิมอยู่แล้ว โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่และคนคืนถิ่น ศิลปินหมอลำพื้นบ้าน และผู้ประกอบการหมอลำ ให้ทั้งสามส่วนได้มีพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานและพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลต่อการอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมแขนงนี้ให้ยืนยาวต่อไป
ยิ่งไปกว่านั้น โครงการวิจัยฯ ยังได้รวบรวมและพัฒนาฐานข้อมูลแผนที่ทางวัฒนธรรม (Cultural Mapping) ในระบบออนไลน์ที่ได้บรรจุรายการสินค้าและการบริการทางวัฒนธรรมที่อยู่ภายใต้หมอลำไว้กว่า 79 รายการ โดยแต่ละรายการมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันในรูปแบบของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) โดยแยกออกเป็นด้านการแสดง เครืองแต่งกาย การออกแบบการแสดง ดนตรีพื้นบ้าน อุปกรณ์การแสดง สถานที่ผลิตผลงาน บริการถ่ายทอดสดบนสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น
เพื่อยกระดับหมอลำให้สอดรับกับบริบทสังคมเสมือนในปัจจุบัน โครงการวิจัยฯ ได้พัฒนาต้นแบบ “หมอลำเมตาเวิร์ส” (Mo Lam Metaverse) ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยในพื้นที่ Metaverse ได้ออกแบบตัวอวตาร (Avatar) จากการถอดแบบตัวแสดงและชุดแสดงของหมอลำ เช่น พระเอก นางเอก ตัวตลก แด๊นเซอร์ ให้เสมือนจริง มีการแบ่งพื้นที่เนื้อหานำเสนอออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะเป็นส่วนการแสดงหมอลำที่ทำให้ผู้เข้าชมเกิดความตื่นตาตื่นใจ และส่วนที่สองจะเป็นพื้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของหมอลำหมู่อีสานในยุคต่าง ๆ พร้อมออกแบบให้สามารถเชื่อมโยงกับสื่อสังคมออนไลน์ของหมอลำคณะต่าง ๆ ได้หากผู้ชมสนใจจะเข้าไปดูความเคลื่อนไหว คิวงานการแสดง หรือซื้อบัตรเข้าชมการแสดงออนไลน์ในกลุ่มปิด อีกทั้งผู้เข้าไปชมในพื้นที่หมอลำเมตาเวิร์ส ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลแผนที่ทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับหมอลำได้อีกช่องทางด้วย
กล่าวได้ว่า “หมอลำ” นอกจากจะเป็นการแสดงพื้นบ้านยอดนิยม เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของท้องถิ่น เป็นจิตวิญญาณของคนอีสาน และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเมืองขอนแก่นที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “มหานครหมอลำ” แล้ว ยังเป็นพื้นที่ให้นักวิจัย คนรุ่นใหม่ ศิลปินพื้นบ้าน ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการได้ร่วมแลกเปลี่ยน พัฒนานวัตกรรม สร้างเครือข่าย และทำงานร่วมกันอย่างเหนียวแน่นทั้งทีมนักวิจัยจากหลากหลายคณะสาขาและภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชนในขอนแก่นและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมในระดับท้องถิ่น สู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมบันเทิงเชิงวัฒนธรรมรวมถึงการยกระดับหมอลำสู่การเป็น Soft Power ในอนาคต
วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ขอขอบคุณคณะกรรมการ สกสว. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ให้การสนับสนุนโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงคณาจารย์นักวิจัยสหสาขาวิชา ทั้งจากวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะศิลปกรรมศาสตร์ ที่ร่วมกันดำเนินโครงการวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฯ รวมทั้งเครือข่ายศิลปินหมอลำ ผู้ประกอบการ สื่อมวลชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกท่านที่สนับสนุนภารกิจวิจัยเพื่อสังคมของวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น เราพร้อมเดินหน้ายกระดับงานวิจัยเพื่อต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และนวัตกรรมในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
From Isan to the Metaverse: COLA Pioneers Mo Lam’s Journey into the Creative Economy