มนุษย์ – สังคมศาสตร์ มข. ร่วมจัดค่ายสานสัมพันธ์มนุษยศาสตร์ ฯ 5 สถาบัน ต่อยอดแนวคิด “ยุวชนอาสา”
เมื่อวันที่ 5 – 12 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.กุลธิดา ท้วมสุข คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เฉลิมเกียรติ มินา รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มพัฒนานักศึกษาและการต่างประเทศ คณะกรรมการสโมสรนักศึกษา และนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้เข้าร่วมโครงการสานสัมพันธ์เครือข่ายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2562 (ค่ายสานสัมพันธ์มนุษยศาสตร์ ฯ 5 สถาบัน) ภายใต้แนวคิดของการจัดค่ายในครั้งนี้ คือ “โหนด นา เล” ซึ่งหมายถึง ขึ้นโหนด ลงนา มา (ทะ) เล ณ โรงเรียนวัดบ่อแดง (จอกประชานุกูล) ตำบลบ่อแดง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา โดยในวันที่ 6 มีนาคม 2563 ได้มีพิธีเปิดโครงการ ฯ ซึ่งได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี ณ หอประชุมสำนักงานอธิการบดี ฯ วิทยาเขตปัตตานี
ค่ายสานสัมพันธ์มนุษยศาสตร์ ฯ 5 สถาบัน มีลักษณะเป็นการจัดค่ายอาสาพัฒนาและบำเพ็ญประโยชน์ โดยมีเครือข่ายความร่วมมือครอบคลุมมหาวิทยาลัยหลักในทุกภูมิภาค ประกอบด้วย 1) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี) 3) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 4) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 5) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วัตถุประสงค์ของการจัดค่ายในครั้งนี้ก็เพื่อให้นิสิตนักศึกษารู้จัก “อุทิศตนเพื่อสังคม” และ “คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตน” นิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการทำกิจกรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของตนเอง บนพื้นฐานของการใช้ความรู้ความสามารถในการช่วยเหลือผู้อื่น มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชุมชน และมีประสบการณ์เพิ่มขึ้นจากการเรียนรู้ชุมชนเป็นฐาน และเปิดโลกทัศน์ให้กับนิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมในต่างภูมิภาค โดยในปีนี้ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี) ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ
กิจกรรมที่ได้ร่วมกันจัด ประกอบด้วย การสอนหนังสือให้กับนักเรียน การบำเพ็ญประโยชน์ (ทาสี ขุดแปลงเกษตร ทำความสะอาดโดยรอบบริเวณโรงเรียน และเก็บขยะริมชายหาด) กิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน (การเกี่ยวข้าวแบบพื้นบ้าน การตีมีด การทำน้ำตาลโตนด การทำกระเบื้องดินเผา การทำเกษตรอินทรีย์ และการทำปลากรอบ) กิจกรรมสันทนาการ และการแสดงแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมประจำภูมิภาค
รองศาสตราจารย์ ดร.กุลธิดา ท้วมสุข คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวว่า “ค่ายสานสัมพันธ์มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 5 สถาบันครั้งที่ 6 นี้ ม.อ.ปัตตานีเป็นเจ้าภาพ ตอนแรกนักศึกษาเราเกือบจะไม่ได้เข้าร่วมเพราะเป็นช่วงที่กระทรวง อว. ออกประกาศห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของนักศึกษาจำนวนมาก โชคดีที่ปัตตานียังไม่มีกรณีติดเชื้อ และสถานที่ที่นักศึกษาลงทำกิจกรรมคือที่อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ก็อยู่ในชนบทที่ห่างไกล นักศึกษาจาก HUSO@KKU จำนวน 32 คนจึงได้มีโอกาสเข้าร่วม การสานสัมพันธ์นี้มิใช่เพียงให้นักศึกษาต่างสถาบันได้ทำความรู้จักกันเท่านั้น แต่เป็นกิจกรรมที่เน้นการสร้างประโยชน์แก่สังคม ซึ่งต้องมีการร่วมมือกันทำงานหลายด้าน เห็นได้ชัดว่าเป็นการให้โอกาสแก่นักศึกษานำเอาความรู้ความสามารถไปสร้างประโยชน์แก่ผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้จากผู้อื่นเป็นการพัฒนา soft skills ของตนเองโดยไม่ต้องมีใครสอนอีกด้วย”
นางสาวอรุณรัตน์ ไชยสุข (กอฟจิก) อุปนายกสโมสรนักศึกษา ปฏิบัติการแทนนายกสโมสรนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวถึงความสำคัญของการจัดค่ายในครั้งนี้ว่า “จากการเข้าร่วมค่ายสานสัมพันธ์มนุษยศาสตร์ ฯ 5 สถาบันในครั้งนี้ นอกจากการเข้าร่วมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสานสัมพันธ์กับทั้ง 5 มหาวิทยาลัยแล้ว ยังได้ศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างของทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นภาคกลาง ภาคเหนือ หรือภาคใต้ รวมไปถึงการศึกษาเรียนรู้วิถีชุมชนและสภาพแวดล้อมที่แปลกใหม่ อันนำมาซึ่งการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของพื้นที่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหารการกิน หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิต ทั้งยังเป็นการนำความรู้ของเหล่านิสิตนักศึกษาไปพัฒนาคุณภาพเด็กนักเรียนให้เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์และมีภาวะความเป็นผู้นำ และนอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของนิสิตนักศึกษาให้เป็นผู้มีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบต่อส่วนรวม การจัดการเรื่องเวลา การเป็นผู้นำ ตลอดจนการมีจิตสาธารณะ”
ทั้งนี้ แนวคิดของการจัดค่ายสานสัมพันธ์มนุษยศาสตร์ ฯ 5 สถาบัน ยังสอดคล้องกับโครงการ “ยุวชนอาสา” ภายใต้แผนงาน “ยุวชนสร้างชาติ” ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นิสิตนักศึกษาสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการปฏิบัติงานได้จริง สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่หลากหลาย ซับซ้อน และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ รวมทั้งนําองค์ความรู้และนวัตกรรมที่หลากหลายมาบูรณาการกับชุมชน เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหา พัฒนาและส่งเสริมให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ข่าว: นายกิตติชัย กองแก้ว
ภาพ: นางสาวรัตนมณี ขันอุดทา และ Facebook Fanpage ค่ายสานสัมพันธ์มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 5 สถาบัน