มข.เจ้าภาพ จัดประชุม 9 เครือข่าย อพ.สธ. ทั่วประเทศ มุ่งสร้างความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์วางเป้าหมายบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ของประเทศ

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในนามแม่ข่ายเครือข่ายเชิงประเด็นโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (C-อพ.สธ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน) ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) จัดพิธีเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายเชิงประเด็นโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (C-อพ.สธ.) ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมี นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาการในตําแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) กล่าวเปิด ศาสตราจารย์ สพ.ญ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ประธานเครือข่าย C-อพ.สธ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน) กล่าวต้อนรับ ในการนี้มี ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อํานวยการ อพ.สธ. นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อํานวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประธานและผู้แทนเครือข่ายเชิงประเด็น อพ.สธ. ทั้ง 9 เครือข่าย ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร สถาบันการศึกษาเครือข่ายเชิงประเด็น อพ.สธ. ทุกสถาบัน ร่วมกิจกรรมกว่า 180 คน ณ ราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล จังหวัดขอนแก่น

ศาสตราจารย์ สพ.ญ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ปีนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับมอบจาก สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน ประชุมสัมมนา เรื่อง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายเชิงประเด็นโครงการอนุรักษ์ พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดําริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (C-อพ.สธ.) ซึ่งการจัดงานมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความเข้มแข็ง ของเครือข่ายฯ ให้มีความต่อเนื่องและขยายความร่วมมือด้านการวิจัยและวิชาการกับสถาบันอุดมศึกษาในเครือข่าย และภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง

“การจัดงานในครั้งนี้เพื่อให้ทุกภาคส่วนทราบนโยบายและแนวทางการดําเนินงานของ อพ.สธ. เพื่อใช้ในการกําหนดทิศทางการดําเนินงานของเครือข่ายฯ และ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และกระบวนการแก้ไขปัญหาของเครือข่าย เพื่อติดตามประเมินผลการดําเนินงาน และประชาสัมพันธ์การดําเนินกิจกรรมของเครือข่าย และพัฒนาต่อยอดร่วมกัน”

       นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาการในตําแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สป.อว. กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายเชิงประเด็นโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดําริฯ (เครือข่าย C-อพ.สธ.) เป็นการร่วมมือระหว่าง สป.อว. กับเครือข่ายทั้ง 9 แห่ง โดยจัดเป็นประจําทุกปี สลับกันไปในแต่ละภูมิภาค ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้วิถีการทํางานของแต่ละเครือข่าย และยังทําให้เห็นว่า การมีเครือข่ายที่เข้มแข็งมีความสําคัญ

“สําหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สป.อว. ร่วมกับเครือข่าย C-อพ.สธ. ทั้ง 9 เครือข่าย ขับเคลื่อนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้เกิดขึ้นในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ และ จะขยายความร่วมมือไปยังภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหวังว่ากิจกรรมดังกล่าว จะมีส่วนในการผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถดําเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของประเทศต่อไป”

สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายเชิงประเด็นโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดําริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (C-อพ.สธ.) ประจําปี 2567 มีกำหนดจัดในระหว่างวันที่ 8 – 10 พฤษภาคม 2567 ณ ราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล จังหวัดขอนแก่น ซึ่งในวันที่ 9 มีกิจกรรมสำคัญ อาทิ การบรรยาย : สืบสาน และ ต่อยอดโครงการอนุรักษ์พันธุพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) โดย: ศาสตราจารย์ สพ.ญ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ประธานเครือข่าย C-อพ.สธ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน) การบรรยาย : นโยบายและการดำเนินงานตามแนวทางของโครงการอนุรักษ์พันธุพืชอันเนื่องมาจากพระราชดําริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) โดย: ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ผู้ช่วยผู้อํานวยการ อพ.สธ. ช่วยบ่าย มีกิจกรรม เสวนา: “การบูรณาการงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์และตอบโจทย์สังคม” โดย: – เครือข่าย C-อพ.สธ. ภาคกลาง ภาคใต้  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ต่อจากนั้น เป็นการนําเสนอผลการดําเนินงานของเครือข่าย ทั้ง 9 เครือข่าย ในวันที่ 10 มีกิจกรรม เดินทางไปศึกษาดูงาน  ไหว้พระวัดหนองแวงพระอารามหลวง อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  โรงงานต้นแบบเกษตรและอาหาร (Food Pilot Plant) โรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงเรือนต้นแบบวิจัยการผลิตแมลงโปรตีน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

KKU hosts the learning and sharing event of 8 RSPG allies from all over the country to plan how to achieve the country’s SDGs

https://www.kku.ac.th/17803