เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 เวลา 13.30 น. ผศ. นพ.ศักดา วราอัศวปติ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคุณภาพ ดร. ภาวนา กิตติวิมลชัย รักษาการแทนผู้อำนวยการกองพัฒนาคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้อนรับ คณะศึกษาดูงานจากกองนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม นำโดย รศ.ดร. นิวัตร พัฒนะ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม นางเอมอร กมลวรเดช ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผน พร้อมด้วย บุคลากรที่เข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาดูงาน 10 คน ในโอกาสเข้าศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับระบบพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินงานที่เป็นเลิศ (EdPEx) ณ ห้องประชุมกาลพฤกษ์ 7 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผศ. นพ.ศักดา วราอัศวปติ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคุณภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การที่มหาวิทยาลัยจะเข้าสู่ระบบพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินงานที่เป็นเลิศ (EdPEx) ผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้กำหนดทิศทางมหาวิทยาลัย ต้องเห็นความสำคัญ
“การเข้าร่วม EdPEx ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นการเริ่มจากระดับคณะ ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ เป็นคณะแรกๆที่เข้าสู่ระบบพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินงานที่เป็นเลิศ (EdPEx) เมื่อผ่านไปสักระยะ คณะอื่นๆ เล็งเห็นการพัฒนาเช่นเดียวกัน จึงเริ่มทยอยเข้าร่วม ขณะนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อยู่ในระดับการวางกลยุทธ์ ที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ยุทธศาสตร์หรือ Strategy Map ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการบริหารที่องค์กร ที่มีผลต่อการประเมิน โดยจะพัฒนาไปเป็นนโยบายที่นำไปสู่ภาคปฏบัติของบุคคลากรต่อไป ฉะนั้นเนื้อหาสาระในวันนี้จะมุ่งเน้นไปที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการวางนโยบาย/แนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนและถ่ายทอดไปสู่การปฏิบัติ ในการนำเกณฑ์ดังกล่าวไปใช้ในคณะ/หน่วยงานต่างๆ รวมถึงปัญหา อุปสรรค แนวทางการแก้ไขเพื่อให้การดำเนินงานนั้นบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้”
รศ.ดร. นิวัตร พัฒนะ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม กล่าวว่า “เราต้องการยกระดับ มาตรฐานคุณภาพของมหาวิทยาลัย เพราะว่ามาตรฐานไม่มีที่สิ้นสุด ต้องขยับพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ฉะนั้น การมาศึกษาดูงานในครั้งนี้จึงเป็นการมาขอคำแนะนำจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า การเข้าสู่ระบบพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินงานที่เป็นเลิศ (EdPEx) ที่มีมาตรฐานสูงขึ้น มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จะต้องทำอย่างไรบ้าง
“การมาวันนี้อยากทราบ มุมมอง หรือ กลยุทธ์ เพื่อที่จะทำให้องคาพยพ ของเราทุกหน่วยงานขยับไปพร้อมกับเรา อย่างเช่น ปีที่ผ่านมาเราใช้ EdPEx เป็นปีแรก มีคณะเข้าร่วม การประเมิน EdPEx 2 คณะ ในขณะที่อีก 6 คณะยังมองว่าEdPExเป็นเรื่องที่ยาก ฉะนั้นเราจึงต้องการศึกษาแนวทางการทำงานร่วมกันของการเดินไปทั้งองคาพยพทุกคณะภายในมหาวิทยาลัย”
สำหรับ EdPEx หรือ เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ ย่อมาจาก “Education Criteria for Performance Excellence” หรือ เป็นกรอบการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ ที่เป็นต้นแบบของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) โดยเกณฑ์ EdPEx มุ่งเน้นการบริหารองค์กรในเชิงระบบ โดยเกณฑ์จะตั้งคำถามให้สถาบันพิจารณา การดำเนินงานที่สอดคล้องกับประเด็นต่างๆ ดังนี้ มีการดำเนินงานที่เป็นระบบหรือไม่ นำระบบไปใช้อย่างจริงจัง สม่ำเสมอ และทั่วถึงหรือไม่ ติดตาม ประเมินผล เพื่อพัฒนาระบบให้ดีขึ้นหรือไม่ ผลการปรับปรุง ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายและทิศทาง ที่มุ่งหวังหรือไม่ ผลลัพธ์ของการปรับปรุง สร้างความยั่งยืนได้หรือไม่