มอง “วันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๕๖๖” ผ่านมุม “อาจารย์ภาษาไทย มข.” ในวันที่โลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ภาษาเปลี่ยน

๒๙ กรกฎาคม​ ถูกกำหนดให้เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของภาษาประจำชาติ และประเด็นที่วนกลับมาถกถามกันเสมอในทุกปี คงหนีไม่พ้นคำศัพท์ใหม่ ๆ หรือ ภาษาวัยรุ่นต่าง ๆ กับการอนุรักษ์ภาษาไทยดั้งเดิมให้คงอยู่

รศ.ดร.จักรกฤษณ์  ดวงพัตรา กรรมการบริหารหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และครูภาษาไทยดีเด่น ระดับอุดมศึกษา มองว่า เมื่อก่อนมักจะพูดกันว่าคำที่เกิดขึ้นใหม่ส่วนใหญ่ มีอายุไม่นาน เมื่อความนิยมใช้ซาลง ก็จะหายไปเอง  แต่หลัง ๆ มานี้ ราชบัณฑิตฯ ได้พยายาม “เก็บ” คำเหล่านี้ รวบรวมต่างหากจากพจนานุกรมเล่มหลัก เรียกว่า “พจนานุกรมคำใหม่”

“การสร้างคำใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่ควรตั้งแง่มองในเชิงลบ แต่ควรเปิดใจยอมรับว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงปรีชาญาณทางภาษาของคนไทย”

ข้อคิดของ ศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช ในวรรณกรรม เรื่อง สี่แผ่นดิน ที่ว่า “ของทุกอย่างย่อมเคลื่อนคล้อยไปตามวันเวลา ไม่มีใครจะเร่งหรือหยุดเวลาได้” น่าจะใช้เป็นคำปลอบใจประเด็น “คำใหม่เกิดขึ้น คำเก่าไม่มีคนใช้” ที่กังวลกันได้ดีที่สุด

ขณะเดียวกัน หากจะถามถึงความสำคัญของวันภาษาไทยแห่งชาติที่บางคนอาจจะหลงลืมหรือไม่ทราบ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ก็มองเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากวันภาษาไทยแห่งชาติ เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ ๒๐ กว่าปีมานี้ และไม่ใช่วันหยุดประจำปี  จึงไม่อยู่ในความทรงจำรำลึกถึงของคนทั่วไป ทำให้ดูเหมือนจะมีแต่ในสถาบันการศึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่ระลึกถึง

“ถ้าให้ชั่งน้ำหนักว่าสังคมไทยปัจจุบันนี้อะไรวิกฤต กว่ากัน ระหว่างภาษาไทย-วันภาษาไทยฯ กับรัฐธรรมนูญ-วันรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าคำตอบของคนส่วนใหญ่น่าจะไปในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่เกิดความกังวลเกี่ยวกับภาษาเปลี่ยนในสังคมที่กำลังเปลี่ยนไป แต่ในฐานะที่เป็นครูภาษาไทย เรื่องที่ทำให้รู้สึกรำคาญใจอยู่เสมอ ๆ คือ ปัจจุบันนักศึกษามักจะสื่อสาร ทั้งพูด และเขียน โดยไม่ให้ความสำคัญกับความหมายประจำคำ ไม่เข้าใจว่าคำบางคำ อุ้มความหมายมากกว่าที่เขาเข้าใจ และไม่สนใจถึงศักดิ์ของคำที่ตนเองใช้

“ส่วนตัวก็พยายามทำความเข้าใจ และไม่ทำตัวเป็นครูภาษาไทยที่อุ้มความหมายว่า จู้จี้จุกจิก น่ามคาน…”

สำหรับสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เริ่มเปิดหลักสูตรมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๒  โดยสอนและส่งเสริมกิจกรรมด้านภาษาไทยมาตลอด ส่งผลให้ในปี พ.ศ.๒๕๓๘ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับพระราชทานรางวัลพระเกี้ยวทองคำ สถาบันส่งเสริมการใช้ภาษาไทยดีเด่น

ไม่เพียงแต่สอนด้านภาษาไทยให้นักศึกษาได้ใช้สื่อสารอย่างเข้าใจและถูกต้องเท่านั้น แต่สาขาวิชามีการปรับหลักสูตรให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม และผลิตบัณฑิตให้สามารถนำความรู้ภาษาไทยไปใช้ในวิชาชีพต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันในหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.๒๕๖๔  นอกจากปรับปรุงการเรียนการสอนให้เป็นวิชาภาษาไทยประยุกต์ใช้ในบริบทสากลแล้วยังได้เพิ่มเติมวิชาภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศเพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามความต้องการในสังคมปัจจุบันอีกด้วย

 

Scroll to Top