บัณฑิตวิทยาลัยร่วมจัดการสัมมนาโครงการ “ธัชวิทย์” (Thailand Academy of Science)

บัณฑิตวิทยาลัยและฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) จัดสัมมนาโครงการ “ธัชวิทย์” (Thailand Academy of Science) การบรรยายพิเศษเรื่องการดำเนินงานด้าน “ธัชวิทย์” การเปิดรับข้อเสนอโครงการ บพค. ประจำปี 2567 และหารือบทบาทของหลักสูตรในขอนแก่นภายใต้ความร่วมมือ “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และ กรอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ผ่านระบบ ZOOM Meeting เมื่อวันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.30 – 12.00 น.

 

รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับ จากนั้นศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และคณะ บรรยาย เรื่อง แนวทางความร่วมมือ “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และกรอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) จากนั้นเป็นการเสวนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง บทบาทของหลักสูตรในมหาวิทยาลัยขอนแก่นภายใต้ความร่วมมือ “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และกรอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) โดยมี รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ รศ.ดร.เกียรติไชย  ฟักศรี คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย และ รศ.ดร.รินา ภัทรมานนท์ (Moderator) และปิดทายกิจกรรมด้วยกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้บูรณาการร่วมกัน ในด้านการพัฒนาและนำเอาหลักสูตรเพื่อสร้างความร่วมมือ เพื่อนำไปต่อยอดภายใต้ความร่วมมือ “ธัชวิทย์”

“ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences: TAS) เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัยนักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแห่งชาติ และสถาบันอุดมศึกษา เข้ามาทำงานร่วมกัน โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศที่มีอยู่แล้วเพื่อสร้างประเทศให้มีฐานวิทยาศาสตร์ที่ดี ฐานการพัฒนาคนไทยให้ได้ดี สร้างคลังสมอง เพิ่มอันดับมหาวิทยาลัยไทย สร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมขั้นแนวหน้า ผลิตบัณฑิตสมรรถนะสูงในสาขาจำเป็น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก มุ่งเป้าให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2580 โดยให้มีรูปแบบการดำเนินงานใน 3 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การสร้างเครือข่ายคลังสมองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ (Frontline Think Tank) มิติที่ 2 กลุ่มริเริ่มงานวิจัยชั้นนำ (Frontier Science Aliances) และมิติที่ 3 ผลิตและ พัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพสูงเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก (Future Graduates Platform)

บทบาทของมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการด้านหลักสูตรในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีทักษะแห่งอนาคตร่วมกับภาคี ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยในกระบวนการผลิตบัณฑิตจะมีโจทย์วิจัยและความต้องการของภาคี ซึ่งยึดจากฝั่งความต้องการของประเทศเป็นหลัก และมีการทำการวิจัยที่ภาคีความร่วมมือและรวมไปถึงหน่วยงานต่างประเทศที่เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ เป็นส่วนใหญ่ เมื่อสิ้นสุดกระบวนการจะได้มหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตที่ถูกบรรจุในอัตรากำลังของหน่วยงานภาคีดังกล่าว ในกรอบปีงบประมาณ 2567-2570 เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ “ธัชวิทย์”

มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีหลักสูตรที่เหมาะสมในการรับผลิตบัณฑิตในตามที่ภาคีต้องการ ภายใต้ 2 กรอบ ได้แก่ กรอบที่ 1 Bio innovation for sustainability (Future foods and bio nanotechnology) โดยมีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องได้แก่ Bioscience and Bioinnovation for Sustainability คณะวิทยาศาสตร์ Systems Biosciences คณะแพทยศาสตร์ และ กรอบที่ 2 Advanced functional nanotechnology for CCUS (carbon capture usage andstorage) โดยมีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องได้แก่ วัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์

Graduate School, KKU co-organizes the seminar under the Thailand Academy of Science Project

 

https://www.kku.ac.th/16387

 

 

ภาพ: ศิตธีรา สโมสร/พนัชกร โชคลา

ข่าว: ศิตธีรา สโมสร

#GSKKU #GradForGrowth #KKU #ธัชวิทย์ #ThailandAcademyOfSceicne #บพค #อว

Scroll to Top