มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศาสตราจารย์ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ , ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและบุคลากรฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ และอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่งนักศึกษาเข้าร่วมโครงการประกวด“เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ประจำปี 2563” (Research to Market 2020) ระดับประเทศ ซึ่งจัดโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัย พัฒนาเป็นแผนศึกษาความเป็นได้ทางธุรกิจสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ มีนักศึกษาจากเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเข้าร่วมการประกวดจำนวน 22 ทีม ผลการประกวด อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประกอบไปด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น(แม่ข่าย) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุนารี และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (Northestern Science Park) กวาดรางวัลรอบระดับประเทศ ดังนี้
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม L’effort นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดทำแผนธุรกิจจากงานวิจัย เครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกเมล็ดพืช
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม CheckMate นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดทำแผนธุรกิจจากงานวิจัย แพลตฟอร์มสำหรับตรวจจับการเป็นสัดในโคนม
และรางวัลชมเชย ได้แก่ ทีม โอม (Aum) นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น
ทีม AUM มีสมาชิก 5 คน ประกอบไปด้วย 1) นางสาว จารุวรรณ จริงเพ็ง 2) นายจิรานุวัฒน์ ทองมูล 3) นางสาวจุฑามาศ จุลกิจถาวร 4) นางสาวณัฐชา วรรณพฤกษ์ และ5) นางสาวภัททิยา ดวงโนแสน ทั้งหมดเป็นนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี สาขาการตลาด จัดทำแผนธุรกิจจากงานวิจัย “Kapillariasis ICT Kit หรือ KAP Kit ชุดทดสอบสอบโรคท้องร่วงจากพยาธิแคปิลลาเรียในคน” ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ผู้คนมีพฤติกรรมนิยมรับประทานปลาน้ำจืดไม่ปรุงสุกที่อาจมีพยาธิแคปิลาเรียเข้าไป อาการคล้ายคลึงกับโรคร้ายหลายหลายโรคไม่ว่าจะเป็นโรคไตโรคตับโรคมะเร็งลำไส้หรือโรคเอดส์ เป็นผลงานวิจัยของศ.ดร.วันชัย และ ศ.พญ.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ พร้อมทั้งคณะผู้วิจัยจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาเป็นชุดทดสอบที่ให้ความแม่นยำสูง รวดเร็วและใช้งานสะดวก ทำให้แพทย์สามารถตรวจแยกโรคได้อย่างแม่นยำและรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงทีทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
ภาพ : นถดล กลิ่นศรีสุข
ข่าว : ณัฐกานต์ อดทน