WeSD HUSO KKU ประชุมโครงการวิจัย “ระบบการศึกษาไทยยุคหลังโควิด-19 : ความท้าทายและการปรับตัว” มุ่งแสวงหานโยบายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยหลังโควิด-19

วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 กลุ่มวิจัยความอยู่ดีมีสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WeSD) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการประชุมโครงการวิจัย “ระบบการศึกษาไทยยุคหลังโควิด-19 : ความท้าทายและการปรับตัว” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา ให้เกียรติเป็นประธานในการกล่าวเปิดงาน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร เป็นผู้กล่าวรายงานต่อประธานในพิธี พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง หัวหน้าโครงการวิจัย ทีมนักวิจัย บุคลากรหน่วยงานราชการ ผู้บริหารสถาบันการศึกษา ครูผู้สอน และนักเรียน รวมไปถึงกลุ่มเยาวชน สภานักศึกษา เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้กว่า 40 คน จัดขึ้น ณ ห้อง Smart Classroom (4-A1) อาคารรัตนพิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผศ.ดร.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร
ผศ.ดร.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร

กิจกรรมเป็น 2 ช่วง ในช่วงแรกเป็นการนำเสนอภาพรวมของโครงการวิจัย โดย รองศาสตราจารย์ ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง และนำเสนอแผนงานย่อย 3 แผนงาน ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การพัฒนากลไกสร้างความอยู่ดีมีสุขผ่านการคิดเชิงออกแบบของผู้เรียนและผู้สอน และพลเมืองดิจิทัล จากนั้นเป็นการแบ่งกลุ่มเพื่อพูดคุยในประเด็นความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัย

รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง หัวหน้าโครงการวิจัย
รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง หัวหน้าโครงการวิจัย

ในการจัดประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ในการดำเนินโครงการวิจัย อีกทั้งยังก่อให้เกิดเครือข่ายและสร้างความร่วมมือระหว่างทีมวิจัยและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่วิจัย โดยการดำเนินโครงการวิจัย “ระบบการศึกษาไทยยุคหลังโควิด-19 : ความท้าทายและการปรับตัว” มุ่งแสวงหานโยบาย หรือการแทรกแซงเพื่อให้ระบบการศึกษาของไทยมีความสามารถในการตอบสนองต่อสถานการณ์หลังการระบาดของโควิด-19

ศาสตราจารย์ ดร.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ กล่าวว่า “การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาหลายประการ เด็กเล็กและนักเรียนจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษาจากความไม่พร้อมด้านเทคโนโลยีส่งผลให้โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาลดน้อยลง ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดจากการดำเนินโครงการวิจัยในครั้งนี้น่าจะช่วยตอบโจทย์ชุมชน สังคม หรือพัฒนาแนวทางเพื่อให้เกิดการปรับตัว รวมทั้งสร้างนวัตกรรมทางสังคมที่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพการศึกษาได้”

ศ.ดร.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา
ศ.ดร.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา

ซึ่งผลการศึกษาจะนำไปสู่การแสวงหาแนวทางในการปรับตัวและพัฒนาให้ผู้เรียนและผู้สอนมีความอยู่ดีมีสุข และสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ที่มีคุณสมบัติเป็นพลเมือง “ดิจิทัล”สามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต พร้อมทั้งขับเคลื่อนชุมชน สังคมที่น่าอยู่และเท่าทันโลกต่อไป

 

 

 

 

 

ข่าว/ภาพ : กลุ่มสื่อสารองค์กร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

Scroll to Top