CliNaP-M

สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีร่วมกับห้องปฏิบัติการฟีโนมฯ ม.ขอนแก่น จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ Upskill & Reskill หัวข้อ Foodomics ได้รับความสนใจจากนักวิจัยทั่วประเทศ !

สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ม.ขอนแก่น จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ Upskill & Reskill-Foodomics ครั้งที่ 4 มีผู้สนใจเข้าร่วมอบรมมากขึ้นจากหลายสถาบันการศึกษา รวมถึงศูนย์ สถาบันวิจัย และบริษัทเอกชนจากทั่วประเทศ

 

     เมื่อวันที่ 3 – 5 เมษายน 2565 สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ร่วมกับห้องปฏิบัติการฟีโนมนานาชาติแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้โครงการขับเคลื่อนงานวิจัยและการบริการวิชาการทางด้านฟีโนมิกส์ โดยฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา พร้อมด้วย คณะแพทยศาสตร์  วิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีการแพทย์ทันสมัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันจัดหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นด้านเมแทโบโลมิกส์ทางคลินิกและสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (Short Course in Clinical and Natural Product Metabolomics หรือ CliNaP-M) โดยมีพิธีเปิดการฝึกอบรมเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 เวลา 09:00 น. ณ ห้องประชุม NESP326 อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิระยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ พญ.วิมลรัตน์ ศรีราช รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริมนพร ทิพสิงห์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชวิศ เกตุแก้ว รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ วิจัย และวิเทศสัมพันธ์ ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ รองศาสตราจารย์ ดร.นพ.ดำเนินสันต์ พฤกษากร ผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีทางการแพทย์ทันสมัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดการฝึกอบรมครั้งนี้

     สำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นด้านเมแทโบโลมิกส์ทางคลินิกและสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (Short Course in Clinical and Natural Product Metabolomics หรือ CliNaP-M)  เป็นหลักสูตรแบบ Non-degree Program ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาคีเครือข่ายทางวิชาการได้ร่วมกันจัดการฝึกอบรม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) รวมถึงการพัฒนาทักษะเฉพาะด้านของนักวิจัยเพื่อ Upskill และ Reskill  โดยจัดมาแล้ว 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งได้รับความสนใจจากอาจารย์ นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และนักวิจัยจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง และในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 มีผู้สนใจเข้าร่วมอบรมมาจากหลากหลายสถาบันการศึกษา ศูนย์และสถาบันวิจัย และบริษัทเอกชนจากทั่วประเทศ

รองศาสตราจารย์ ดร. วัชรินทร์ ลอยลม เลขานุการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี
  รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ ลอยลม เลขานุการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี   

   รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ ลอยลม เลขานุการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการจัดการฝึกอบรมได้กล่าวรายงานต่อประธานในพิธีว่า “การจัดการอบรมหลักสูตรระยะสั้นด้านเมแทโบโลมิกส์ทางคลินิกและสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติขั้นสูง มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์โอมิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมแทโบโลมิกส์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาวิจัย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมต่าง ๆ ในครั้งนี้เป็นการนำศาสตร์เมแทโบโลมิกส์มาประยุกต์กับงานด้านการวิจัยทางอาหาร จึงใช้ชื่อธีมของงานว่า “Foodomics” หรือโอมิกส์ของอาหาร ซึ่งจะทำให้ผู้ร่วมอบรมได้เข้าใจหลักการพื้นฐานตั้งแต่การออกแบบการวิจัยและคัดเลือกกลุ่มประชากร การเก็บตัวอย่าง การวิเคราะห์ตัวอย่าง การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ระดับโมเลกุล หรือ Molecular Big Data จนกระทั่งการแปลผลและการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ผ่านการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบ Hybrid Learning โดยมีทั้งการเรียนภาคทฤษฎีออนไลน์บนแพล็ตฟอร์ม KKUMedX และการทำปฏิบัติการจริงกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิทยาศาสตร์โอมิกส์ ประกอบด้วย อาจารย์ ดร.จุฑารพ เพชระบูรณิน  อาจารย์ ดร.ปรเมษฐ์ กลั่นฤทธิ์  อาจารย์ ดร.อาภรณ์ หวังวิวัฒน์สิน ดร.หม่อมหลวงมานิดา ศุขสวัสดิ  คุณธนพร กุลธวัชศิริ จากห้องปฏิบัติการฟีโนมนานาชาติแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอาจารย์ ดร.ศิวโมกข์ ดิษสุข จากศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีการแพทย์ทันสมัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยการบรรยายพิเศษจาก รองศาสตราจารย์ ดร.นิษณา นามวาท คณะแพทยศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชวิศ เกตุแก้ว วิทยาลัยนานาชาติ คุณกิตติศักดิ์ ภูผาสิทธิ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอาจารย์ ดร.บัณฑิต พรหมรักษา จากวิทยาลัยนครราชสีมา “นอกจากนี้ การจัดการอบรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัยทั้งที่มีความสนใจหรือทำงานวิจัยในสาขาดังกล่าวเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยผ่านการพัฒนาบุคลากรนักวิจัยและนวัตกร ด้วยประโยชน์มากมายของศาสตร์ฟีโนมิกส์นี้ เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้จากการอบรมหลักสูตรระยะสั้นนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาวิจัยทางอาหารเพื่อการพัฒนาผลิตภันฑ์อาหารฟังก์ชั่น เครื่องดื่ม และยา ตลอดจนผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมทางการเกษตร ที่สามารถช่วยยกระดับอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลางของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี”

รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะที่ปรึกษาโครงการขับเคลื่อนงานวิจัยและการบริการวิชาการทางด้านฟีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และประธานในพิธี
รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะที่ปรึกษาโครงการขับเคลื่อนงานวิจัย                       และการบริการวิชาการทางด้านฟีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานในพิธี

     รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะที่ปรึกษาโครงการขับเคลื่อนงานวิจัยและการบริการวิชาการทางด้านฟีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และประธานในพิธี ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรระยะสั้น CliNaP-M ที่เดินทางมาจากหลากหลายสถาบันทั้ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ และได้กล่าวต้อนรับ รองศาสตราจารย์ ดร.นพ.ดำเนินสันต์ พฤกษากร ผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีทางการแพทย์ทันสมัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มาร่วมเป็นเกียรติในการฝึกอบรมฯ กับเราในครั้งนี้ด้วย รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีเป้าประสงค์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมและพัฒนาบุคลากรด้านงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยด้วยระเบียบวิธีวิจัยสมัยใหม่ ในครั้งนี้คือเมแทโบโลมิกส์ (Metabolomics) และชีววิทยาระบบ (Systems Biology) ที่สามารถนำมาใช้ในการศึกษาและตรวจวิเคราะห์สารเล็ก ๆ ในร่างกาย อาหาร เครื่องดื่ม และยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากรสายผู้สอนที่จบการศึกษาจากสถาบันต่างประเทศที่ติดอันดับ Top 10 ของโลกในสาขาวิชาดังกล่าวมาโดยตรง ประกอบกับความพร้อมด้านเทคโนโลยีที่ใช้ในการศึกษาวิจัยทางชีววิทยาระบบ ที่สามารถช่วยส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรด้านการวิจัยของประเทศไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัยต่าง ๆ ให้มีศักยภาพทัดเทียมนานาอารยประเทศได้” และได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผมต้องขอขอบคุณคณะผู้จัดงาน ประกอบด้วย บุคลากรจากสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ห้องปฏิบัติการฟีโนมนานาชาติแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะแพทยศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีทางการแพทย์ทันสมัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เสียสละเวลา ทุ่มเทแรงกายและแรงใจ ในการเตรียมการฝึกอบรมในครั้งนี้ ขอขอบคุณภาคเอกชนที่ให้เกียรติมาร่วมจัดนิทรรศการ และสนับสนุนการจัดการฝึกอบรม ประกอบด้วย Bruker, World Tech Enterprise, Syntech Innovation, Bangkok R.I.A. GibThai และ BioDesign และ ที่ขาดไม่ได้ต้องขอขอบคุณผู้เข้าร่วมอบรมทุกท่าน ที่ให้ความสนใจและความไว้วางใจมาร่วมอบรมในครั้งนี้”

     จากนั้น เป็นการบรรยายพิเศษโดย ดร. หม่อมหลวงมานิดา ศุขสวัสดิ และคุณธนพร กุลธวัชศิริ นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการฟีโนมนานาชาติแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้บรรยายเกี่ยวกับที่มาและความสำคัญของศาสตร์เมแทโบโลมิกส์ และชีววิทยาระบบ รวมถึงการยกตัวอย่างงานวิจัยที่และผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาด้วยการนำศาสตร์เมแทโบโลมิกส์ไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาวิจัยในแขนงต่าง ๆ เช่น การแพทย์ การเกษตร ผลิภภัณฑ์อาหารและยา ฯลฯ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เห็นภาพและเกิดความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวมากขึ้นก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่การฝึกอบรม

     ห้องปฏิบัติการฟีโนมนานาชาติแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้โครงการขับเคลื่อนงานวิจัยและการบริการวิชาการทางด้านฟีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีพันธกิจหลักในการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศวิจัย การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมโดยใช้เทคโนโลยีฟีโนมิกส์ ผ่านการให้บริการวิชาการตรวจวิเคราะห์ระดับสารเมแทบอไลต์ โปรตีน และการแสดงออกของยีนในสิ่งส่งตรวจทางคลินิก ผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องดื่ม ด้วยเครื่องมือและวิธีการวิเคราะห์ที่ทันสมัยและให้ผลผลิตสูง (High-throughput Analysis) การฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นในแขนงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์โอมิกส์ และการวิจัยและพัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์ใหม่ ๆ ร่วมกับนักวิจัยจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการต่าง ๆ ได้ที่ www.kkuipl.org และ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Khon Kaen University International Phenome Laboratory และสามารถติดต่อได้ที่ info@kkuipl.org

 

ข้อมูล ภาพ : อาจารย์ ดร.จุฑารพ เพชระบูรณิน

เรียบเรียง : เบญจมาภรณ์ มามุข

Scroll to Top