เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565 เวลา 09.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน และศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา ร่วมกับ มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการคิด สมาคมคณิตศาสตรศึกษา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดพิธีเปิดกิจกรรม การเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 15 (The 15th National Open Class) โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ กล่าวรายงาน รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดกิจกรรม และ ศาสตราจารย์ ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา กล่าวต้อนรับ ณ ชั้น 4 อาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากนี้ยังมี ผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และบุคคลที่สนใจ รวมจำนวนกว่า 1,500 คน เข้าร่วมกิจกรรมผ่านทางระบบออนไลน์
สำหรับกิจกรรมการเปิดชั้นเรียนระดับชาติ หรือ National Open Class ดำเนินการปีนี้ เป็นปีที่ 15 มีวัตถุประสงค์หลักในการเป็นเวทีให้ผู้สนใจได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแชร์ประสบการณ์ร่วมกัน เกี่ยวกับ กระบวนการในการพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อยกระดับคุณภาพชั้นเรียน โดยการนำเอานวัตกรรม Lesson Study “การศึกษาชั้นเรียน” ซึ่งเป็นนวัตกรรมร่วมกับโครงการ APEC Lesson Study ที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัย Tsukuba ประเทศญี่ปุ่น และกลุ่มเครือข่ายเศรษฐกิจ มาใช้ โดยมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาวิธีการสอนด้วยการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ยั่งยืน
รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้การจัดกิจกรรมเปิดชั้นเรียน ระดับชาติครั้งที่ 14 ปี ในปีพ.ศ. 2563 ถูกเลื่อนมาจัดในปี พ.ศ. 2564 และ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมเป็นรูปแบบ Online เต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก และ เพื่อให้การจัดกิจกรรมเปิดชั้นเรียนระดับชาติครั้งที่ 15 ในปี พ.ศ. 2565 ดำเนินต่อไป จึงจัดกิจกรรมในวันนี้ขึ้น โดยมีจุดเน้นคือ 1) การพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนในชั้นเรียน 2) การพัฒนาใช้ห้องเรียนจริง 3) การเรียนรู้ร่วมกันของครูเพื่อทำความเข้าใจนักเรียนและยอมรับแนวคิดของนักเรียน และ 4) การพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของการพัฒนา
กิจกรรมภายในงานครั้งนี้ มีหลายกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ
1) การเปิดชั้นเรียน โดยครูผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรมการสอนจากในประเทศ จำนวน 6 ชั้นเรียน และได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ อาจารย์ Hiroyuki Abe จาก Hokkaido University of Education Iwamizawa School ประเทศญี่ปุ่น
2) การบรรยายพิเศษ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า Prof. Yutaka OHARA, College of Education, Kanto-Gakuin University ประเทศญี่ปุ่น และผมเข้าร่วมให้การบรรยายเกี่ยวกับ การจัดการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาการคิดขั้นสูง กับ AI
3) การเสวนาและนำเสนองานวิจัยในชั้นเรียน โดยครูที่ใช้นวัตกรรมการการพัฒนาชั้นเรียน
4) การนำเสนอ Best Practice ในด้านต่างๆ โดยผู้อำนวยการโรงเรียน
รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การจัดกิจกรรมเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 15 ในวันนี้ นับว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญระดับชาติ ที่จะส่งเสริมให้เห็นอีกว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะสถาบันอุดรมศึกษา เห็นความสำคัญอย่างยิ่งที่จะร่วมขับเคลื่อนตามนโยบาย กระทรวงการ (สปอว.) เกี่ยวกับแผนอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิต และ พัฒนากำลังคนของประเทศ ในการพัฒนาครูของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการเชื่อมโยงกับ Reskill Upskill Newskill สู่ Lifelong Learning เพื่อการพัฒนาครูได้อย่างยั่งยืน และ ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน
“กิจกรรมในครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้ทุกท่านได้ร่วมเรียนรู้ และ มีความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับนวัตกรรม การศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ใช้มากกว่า 100 ปีในประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมสังเกตชั้นเรียนที่ใช้นวัตกรรม ได้เห็นว่าชั้นเรียนที่เน้นให้นักเรียนเกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างไร และ เพื่อให้ได้ชั้นเรียนแบบนั้น ผู้บริหารโรงเรียน และคุณครูต้องทำอย่างไร ต้องวางแผนในการ ดำเนินงานอย่างไร ได้เห็นมุมมองในเรื่องของ Best Practice ในด้านต่างๆ โดยผู้อำนวยการ โรงเรียนที่มากประสบการณ์ รวมทั้งในส่วนของสารคดีเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนแบบ ผสมผสาน (BLC) ซี่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการจัดการเรียนการสอนที่สำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จากองค์ความรู้ที่ทุกท่านจะได้ร่วมเรียนรู้ในวันนี้ จะมีประโยชน์ในการ เพิ่มทักษะใหม่ (Upskill) เสริมทักษะที่จำเป็น (Reskill) และสร้างองค์ความรู้ใหม่ (New skill)” อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
ทั้งนี้กิจกรรมการเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 15 (The 15th National Open Class) กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 26-27 มีนาคม 2565 ในรูปแบบ Full Online ผ่าน www.openclassthailand.com กิจกรรมในงานเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญ ด้านการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ
- การทำความเข้าใจความซับซ้อน (Complexity) ชั้นเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพชั้นเรียน
โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
- บทบาทของศึกษานิเทศก์กับการพัฒนาชั้นเรียนฐานสมรรถนะ
โดย ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน
- การอัพเดทความก้าวหน้า เรื่อง electronics textbooks จะเข้ามาช่วยและมีบทบาทอย่างไรในยุคโควิด
โดย Prof. Yutaka OHARA, College of Education, Kanto-Gakuin University
- การจัดการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาการคิดขั้นสูง กับ AI
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อีกทั้งกิจกรรมในปีนี้ ยังได้เน้นการไขความลับเรื่องความซับซ้อนของชั้นเรียนในยุค Digital Economy ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ
- การเปิดชั้นเรียน โดยผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรมการสอนจากต่างประเทศ โดย อาจารย์ Hiroyuki Abe ครูมืออาชีพจากประเทศญี่ปุ่น และโดยครูไทยที่ใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน และวิธีการแบบเปิดด้วยรูปแบบชั้นเรียนที่เน้นการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning Classroom Model)
- การเสวนา โดยครูที่นำนวัตกรรม การศึกษาชั้นเรียน (Lesson -Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ไปใช้ในภาคปฏิบัติและการวิจัยในชั้นเรียน
- การนำเสนอ Best Practice โดยผู้อำนวยการโรงเรียนภายใต้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ
- สารคดีเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนที่เน้นการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended-Learning Classroom Model: BLC)
- การนำเสนอวิจัยในชั้นเรียน โดยครูที่นำการศึกษาชั้นเรียน และวิธีการแบบเปิดไปใช้ในภาคปฏิบัติและพัฒนาให้เป็นการวิจัยในชั้นเรียน
- การแสดงนิทรรศการเสมือนจริง (Virtual Exhibition) ผลงานของโรงเรียนในโครงการฯ ที่ใช้การศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิ1500ธีการแบบเปิด (Open Approach) และหน่วยงานอื่นๆ กว่า 200 นิทรรศการ