เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 16.00 น. – 19.00 น. ตามเวลาประเทศไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะศึกษาศาสตร์ ร่วมกับ University of Hull , สหราชอาณาจักร จัดโครงการ DEVELOPING INNOVATION AND RESEARCH CAPACITY IN THE CIRCULAR ECONOMY THROUGH CITIZEN INQUIR เพื่อส่งเสริม สร้างการตระหนักรู้ การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะภาคพลเมือง ทำการประชุมวิชาการสรุปโครงการ โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น Co-Principal Investigators (Co-PI) กล่าวรายงานโครงการ และ Professor Kevin Burden Professor of Educational Technology University of Hull สหราชอาณาจักร กล่าวสรุปโครงการ ทั้งนี้มีคณาจารย์ นักวิชาการศึกษา ครูประจำการ ร่วมประชุมกว่า 120 คน ผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์
ผศ.ดร.นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น Co-Principal Investigators (Co-PI) กล่าวว่า โครงการ DEVELOPING INNOVATION AND RESEARCH CAPACITY IN THE CIRCULAR ECONOMY THROUGH CITIZEN INQUIR เป็นโครงการความร่วมมือจาก 2 มหาวิทยาลัย จากสหราชอาณาจักรได้แก่ University of Hull และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประเทศไทย ทำงานร่วมกันตลอด 1 ปี เต็ม เพื่อถ่ายทอดวิธีการจัดการเรียนรู้แบบ Citizen Inquiry หรือ กระบวนการสืบเสาะภาคพลเมือง ภายใต้บริบทที่อยากให้ผู้ร่วมโครงการเข้าใจเรื่องแนวคิดเศรษฐกิจพลาสติกแบบหมุมเวียน กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ คือ คุณครู หรือนักการศึกษา เพราะเชื่อว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาคือตัวครู โครงการคาดหวังว่าใน 1 ปี นี้ จะสามารถสร้างคุณครูวิทยาศาสตร์หรือสร้างนักวิทยาศาสตร์ศึกษา ที่เข้าใจแนวทางนี้ ซึ่งเป็นแนวทางนวัตกรรมการจัดการศึกษาแนวใหม่ ที่นำผู้เรียนมาสู่ธรรมชาติ เรียนรู้วิทยาศาสตร์ของจริง และเกิดการเชื่อมต่อเข้าใจธรรมชาติและสามารถไปใช้ในชีวิตจริงได้
ผศ.ดร.นิวัฒน์ ยังกล่าวต่ออีกว่า ภายในโครงการได้ มีการจัดตั้งเครือข่าย Thai Citizen Science and Inquiry in Education (Thai CSI-ED) Network ทำการเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อีก 9 มหาวิทยาลัย ในประเทศไทย ทั้ง 4 ภาค ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนคร เหนือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำการเซทอัพเครื่อข่ายที่เราเรียกว่า (Thai CSI-ED) Network คือ เครือข่ายของมหาวิทยาลัยไทยที่ใช้วิธีการสืบเสาะภาคพลเมืองในการทำงานทางการศึกษาด้วยกัน นำวิธีการกระบวนการ Citizen Inquiry เข้าไปจัดการเรียนการสอน นำเทคโนโลยีอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ เช่น เครื่องวัดคุณภาพน้ำ โดรน กล้อง 360 องศา และ โปรแกรมวิดีโอแบบมีปฏิสัมพันธ์ ถ่ายทอดกระบวนการวิธีการสืบเสาะภาคพลเมือง แก่ครูประจำการ และ นักศึกษา นิสิตครู เพื่อปลูกฝังสร้างการตระหนักรู้ให้แก่เยาวชนต่อไป
Professor Kevin Burden Professor of Educational Technology University of Hull กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นพันธมิตรในฐานะมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพสูงทางด้านการวิจัยและการสอน โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือในประเทศไทยรวมทั้งในสหราชอาณาจักร ให้ได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยใช้วิธีการที่เรียกว่า กระบวนการสืบเสาะภาคพลเมือง ซึ่งเป็นส่วนย่อยของวิทยาศาสตร์พลเมือง ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด -19 จึงสัมมนาและการเวิร์คชอปหลายครั้ง เพื่อช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ลงมือสืบเสาะจริงในชุมชนของตนเอง
“เรามุ่งความสนใจไปที่ครูผู้สอนในมหาวิทยาลัย เพราะครูมีความสามารถในการยกระดับการทำงานที่สร้างแรงกระเพื่อมไปยังนักศึกษาซึ่งจะเข้าไปสอนในโรงเรียนและทำงานกับเด็กและครูคนอื่นๆ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เราจึงนำแนวคิดกระบวนการสืบเสาะภาคพลเมืองมาใช้ สอนเด็กและคณะครูให้รู้จักการจัดการและนำโครงการมาประยุกต์เข้ากับปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะพลาสติก น้ำ มลพิษ และอื่นๆ เพราะเป็นปัญหาสำคัญโดยเฉพาะในบริบทของประเทศไทย โครงการต่างๆ ที่เราได้ส่งเสริม ริเริ่มและสนับสนุนกำลังสร้างผลกระทบในระดับท้องถิ่น เราเชื่อว่าการเชื่อมโยงโครงการร่วมกับเครือข่ายใหม่ๆ โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นและทางเราเอง จะยกระดับการทำงานให้ขยายผลกระทบออกไปทั่วประเทศ รวมทั้งในระดับชุมชนที่กำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน” Professor Kevin กล่าว
ทั้งนี้ด้าน รศ.ดร.ศศิเทพ ปิติพรเทพิน ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในฐานะผู้เข้าร่วมโครงการว่า “อาจารย์นิวัฒน์ทาง มข. เชิญชวนเข้าร่วมโครงการ บอกว่าเป็นโครงการเกี่ยวกับ Citizen Science ก็คือเรื่องของวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง นิสิตนักศึกษา ที่ผมสอนอยู่ก็เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม คิดว่าเวลาที่เขาจบไปเขาจะสามารถประยุกต์ใช้สิ่งนี้ในการประกอบอาชีพครูได้ รวมถึงที่เราเชิญครูประจำการลงมาสังเกตการณ์ อนาคตเขาก็สามารถประยุกต์ใช้กิจกรรมนี้ที่โรงเรียนของเขาได้เช่นเดียวกัน รู้สึกดีได้ความรู้เพิ่มเติมว่าประชาชนทั่วไปก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเก็บข้อมูล ทำงานเหมือนนักวิทยาศาสตร์ได้”
ในการประชุมครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญ บรรยายพิเศษ อาทิ Dr.Charlotte Dean University of Hull บรรยายพิเศษเรื่อง แนวคิดวิทยาศาสตร์สืบเสาะภาคพลเมืองกับเศรษฐกิจพลาสติกแบบหมุมเวียน และ ผศ.ดร. ยุวรัตน์ เงินเย็น ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บรรยายเรื่อง สถานการณ์ขยะในประเทศไทยและการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานทางเลือก และมีผู้ร่วมประชุมทั้ง 9 มหาวิทยาลัยรายงานสรุปโครงการย่อย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ตามโครงการ DEVELOPING INNOVATION AND RESEARCH CAPACITY IN THE CIRCULAR ECONOMY THROUGH CITIZEN INQUIR ได้ดำเนินมาครบ 1 ปีเต็มแล้ว มหาวิทยาลัยทั้ง 9 มหาวิทยาลัย ร่วมกับ University of Hull ได้นำเสนอต่อยอด วางแผนขยายไปสู่การใช้ กระบวนการ Citizen inquiry กับผู้เรียน โดยมีคุณครูที่เป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ พร้อมนำการจัดการเรียนการสอนแนวใหม่นี้ เพื่อส่งเสริมความตระหนักในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างมีความหมายมากขึ้น ในอนาคตจะทำให้โครงการนี้สามารถจะอยู่ในชุมชนของนักการศึกษาในประเทศไทยได้กว้างขวางมากขึ้น หรืออยู่ได้ยั่งยืนตลอดไป
ข่าว / ภาพ จิราพร ประทุมชัย