ม.ขอนแก่น สุดล้ำ เปิด “KKU Production House” หนุนยุคดิจิทัล บริการผลิตสื่อการเรียนการสอนออนไลน์เต็มรูปแบบ สำหรับอาจารย์ นศ. มข. ฟรี

วันนี้ ( 3 กุมภาพันธ์ 2565 )  เวลา 08.30 – 10.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีเปิด KKU Production House โดยศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน ให้บริการสถานที่พร้อมอุปกรณ์ในการผลิตสื่อการเรียนการสอน และสนับสนุนกิจกรรมของส่วนงาน หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิด ผศ.ดร. เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล กล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณบดีจากคณะต่าง ๆ และบุคลากรเครือข่ายผลิตสื่อดิจิทัล เข้าร่วมพิธีเปิด ณ ศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน ชั้น 7 อาคาร ศูนย์สารสนเทศ

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า Production house จะเป็นหนึ่งในกลไกของการขับเคลื่อนให้เกิด Education Transformation คือจะเป็นส่วนที่จะสนับสนุนและรองรับการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ ซึ่งต้องเป็นสื่อที่มีคุณภาพและตอบสนองต่อ Learning Style ของผู้เรียนซึ่งมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่ผู้ที่จบมัธยม 6 เท่านั้นที่เป็นผู้เรียน หากแต่ขยายขอบเขตช่วงอายุอย่างไม่จำกัด Production house ที่มหาวิทยาลัยได้สนับสนุนและผลักดันให้เกิดขึ้นนี้หวังให้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่อาจารย์และนักศึกษาสามารถมาใช้เพื่อผลิตสื่อการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้ผ่านสื่อใหม่ ๆ ได้ ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของ Production house ไม่ใช่เป็นแต่เพียงการมีสื่อการเรียนรู้ที่คุณภาพเท่านั้นแต่เป็นการสร้างแรงกระเพื่อมในการจัดการเรียนรู้แนวใหม่ที่อนุญาตให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ตามความสนใจ และอนุญาตให้ผู้สอนจัดการสอนได้ตามความเชี่ยวชาญของตนเอง ผ่านสื่อและเทคโนโลยีใหม่ “KKU Production House” จึงเป็นการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและตอบสนองต่อ Learning Style ของผู้เรียนในยุคปัจจุบัน

ผศ.ดร. เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล  กล่าวถึงที่มาที่ไปและการบริการของ KKU Production House ว่า รูปแบบการศึกษาในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จากเดิมที่มีการจัดการเรียนในห้องเรียนเป็นหลักได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นแบบผสมการเรียนออนไซต์ร่วมกับการเรียนออนไลน์ และมีการนำระบบการจัดการเรียนการสอนด้วยแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งมีแพลตฟอร์มให้บริการให้แก่สถานศึกษา ทั้งในรูปแบบฟรีและจัดเก็บค่าบริการ และแพลตฟอร์มที่สถานศึกษาได้ทำการพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้บริการแก่อาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาของสถานศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงได้มีการกำหนดการจัดตั้ง KKU Production House ในแผนยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2563-2566 โดยมีศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอนฝ่ายดิจิทัล เป็นหน่วยงานที่ดูแลในการจัดทำสถานที่ KKU Production House ที่เป็นสถานที่ให้บริการผลิตสื่อการเรียนการสอนให้แก่อาจารย์และนักศึกษา 3 รูปแบบ คือ Self-Service Studio, Mini Studio และ Main Studio พร้อมทั้งจัดหาทรัพยากรในด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการผลิตสื่อการเรียนออนไลน์ (Online learning production house) เช่น

  1. อุปกรณ์ Hardware อุปกรณ์การผลิตสื่อบทเรียนออนไลน์ ที่มีอุปกรณ์ในการผลิตสื่อที่มีคุณภาพ ได้แก่ กล้องวิดีโอ คอมพิวเตอร์ ไมค์โครโฟน ชุดไฟสตูดิโอ อุปกรณ์สลับสัญญาณภาพและเสียง
  2. การจัดหา Software ที่ใช้ในการพัฒนาสื่อ บทเรียนออนไลน์ พร้อมทั้งมีการจัดฝึกอบรมการใช้งานแก่อาจารย์ ได้แก่ โปรแกรมผลิตหนังสือ (Ebook Interactive) โปรแกรมสำหรับประชุม อบรม และถ่ายทอดสด (Streamyard) โปรแกรมสำหรับถ่ายทอดสดและผลิตสื่อวิดีโอออนไลน์ (Vmix)  โปรแกรมผลิตสื่อแอนนิเมชั่น (Powtoon)
  3. บุคลากรที่เชี่ยวชาญทางด้านการออกแบบบทเรียนและการผลิตสื่อของศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน และมีการสร้างเครือข่ายผลิตสื่อดิจิทัลที่รวบรวมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตสื่อจากคณะหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยจำนวน 23 คน และการรับนักศึกษาเข้าฝึกงาน (ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ) เพื่อพัฒนาทักษะด้านการผลิตสื่อที่สามารถให้คำแนะนำการผลิตสื่อและบทเรียนออนไลน์
  4. มีการสร้างสิ่งแวดล้อมด้านการเรียนรู้ให้นักศึกษาสามารถพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพได้แก่ ห้องผลิตสื่อ Self-Service Studio จำนวน 2 ห้อง, Mini Studio จำนวน 2 ห้อง ห้อง Main Studio ห้อง Working Space และห้อง Smart Classroom จำนวน 4 ห้อง
  5. มีสนับสนุนการพัฒนาการผลิตเนื้อหา หรือ Content ด้านการจัดการเรียนการสอนพร้อมจัดทำเป็นสื่อบทเรียนออนไลน์
  6. จัดช่องทางการเผยแพร่บทเรียนออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มของมหาวิทยาลัย ที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ได้แก่ KKUx, Digiclass, e-Learning, Digital Learning,KKU Exam

 

ด้านผศ.ดร. อนุชา โสมาบุตร รักษาการผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายและความสำคัญของ KKU Production House ว่า กลุ่มเป้าหมายกลุ่มแรก คืออาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัย ที่ต้องการทำ Content หรือเนื้อหา ให้เข้ากับ Learning Style ของผู้เรียน ซึ่งไม่ใช่แค่การผลิตสื่อวิดีโอเท่านั้น KKU Production House ให้บริการทั้งสื่อ Interactive Content ไม่ว่าจะเป็น E-book หรือ Interactive Book รวมไปถึง Interactive Video ในรูปแบบต่าง ๆ ก็สามารถทำได้ กลุ่มที่ 2 กลุ่มของนักศึกษา เนื่องจากนักศึกษาทุกวันนี้จะต้องเจอกับสื่อใหม่ คือสื่อดิจิทัล ดังนั้นทักษะทางด้านดิจิตอลเทคโนโลยีและเทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็น Soft Skills ที่นักศึกษาต้องสามารถทำได้ เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนจึงต้องมีการเปลี่ยน Skill Sets เช่นกัน หากนักศึกษาไม่ได้ถูกฝึกหรือไม่มีประสบการณ์ในด้านนี้ เมื่อเข้าสู่การทำงานจริงนักศึกษาอาจจะต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด ดังนั้นจะทำอย่างไรให้นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่สามารถพร้อมที่จะทำงานได้ทันทีหลังจากจบการศึกษา นั่นคือ เราต้องสร้างประสบการณ์ให้นักศึกษาในขณะที่กำลังศึกษาอยู่ เพราะฉะนั้น KKU Production House จะเป็นอีกหนึ่ง Ecology ที่ให้นักศึกษาสามารถใช้งานเพื่อสร้างประสบการณ์ได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่เกี่ยวข้องในการทำคอนเทนต์ต่าง ๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาตลอดกระบวนการ ก่อน และหลังการผลิต Content กล่าวคือ สำหรับอาจารย์และบุคลากรจะเน้นการผลิตสื่อที่หลากหลาย และสำหรับนักศึกษาเน้นการสร้างประสบการณ์การทำงาน ให้นักศึกษาพร้อมที่จะทำงานทันทีหลังจากจบการศึกษา

ภายในงานมีการชมการสาธิตการใช้งานและทดลองใช้ระบบ KKU Production House ได้แก่ 1.Mini Studio 2 : การสร้างวิดีโอรูปแบบ Interactive เพื่อนำขึ้นบน e-Learning โดย ดร.ไชยพงษ์ เรืองสุวรรณ คณะวิทยาศาสตร์ 2.on-field Production : บันทึกการสอนด้วยกล้องวิดีโอที่มี frame rate สูง โดย ผศ.สุพรรณิกา พุทธชาลี คณะสัตวแพทยศาสตร์ และผศ.ดร.รัศมี เหล็กพร คณะวิทยาศาสตร์ 3.Main Studio : กิจกรรมของรายวิชาและให้นักศึกษาบันทึกวิดีโอเชิญชวนการใช้ KKU Production House โดยท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย รศ.ดร.วิศปัตย์ ชัยช่วย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 4.Self-Service Studio 1 และ 2 : บันทึกการสอนด้วย OBS โดย ผศ.ดร.สุมณฑา เกษมวิลาศ คณะวิทยาศาสตร์ 5.Mini Studio 1 : บันทึกดนตรีและตัดต่อเสียง โดย ผศ.ดร.พงษ์พิทยา สัพโส คณะศิลปกรรมศาสตร์ และ 6.Working space : ห้องออกแบบกราฟิกเพื่อใช้ในการเรียนการสอน

สำหรับขั้นตอนการจองห้อง สามารถทำได้โดยเข้าไปที่ https://ltic.kku.ac.th/booking/login  1.เข้าสู่ระบบด้วย KKU LOGIN 2. อ่านหลักเกณฑ์การใช้ห้อง 3. เลือกห้อง วัน-เวลา ที่ต้องการ 4. เมื่อจองเสร็จสิ้น ท่านจะได้รับอีเมลยืนยันการจอง (รอเจ้าหน้าที่อนุมัติ) 5. เมื่อเจ้าหน้าที่อนุมัติ ท่านจะได้รับอีเมลยืนยันการจองภายใน 1-2 วัน

Another advanced step: “KKU Production House” for the digital era, supporting production of media for online instruction, free of charge for KKU ajarns and students

https://www.kku.ac.th/12577

Scroll to Top