เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 เวลา 09.30 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) โดย ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้ลงนาม บันทึกความร่วมมือทางวิชาการด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Webex)
โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้กล่าวถึงบทบาทในการสนับสนุนงานวิจัยด้านสุขภาพและการแพทย์เพื่อนำใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่ว่า “วช. ให้ความสำคัญในการสนับสนุนงานวิจัยด้านสุขภาพและการแพทย์เพื่อนำใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่เป็นอย่างมาก ซึ่งจะเห็นได้จากการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทย: ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ แก่มหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยมี ศ. นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว เป็นผู้บริหารแผนงาน (Director) ซึ่งเริ่มดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 จนถึงปัจจุบัน และจากการดำเนินงานที่ผ่านมาโครงการวิจัยท้าทายไทย: ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ สามารถสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สำคัญเพื่อนำไปใช้ในอำเภอต้นแบบ และขยายผลให้ครอบคลุมทุกพื้นเสี่ยง โดยมีการบูรณาการความร่วมมือของนักวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ และชุมชน ซึ่งก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างยั่งยืน และหวังผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีให้ลดน้อยลงหรือหมดไปจากประเทศไทย และรู้สึกยินดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในครั้งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับประชาชนในพื้นที่ และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จะให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในการพัฒนานวัตกรรมอื่นๆ รวมถึงสนับสนุนงานวิจัยในทุกๆ ด้านที่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนชาวไทยต่อไป”
ทางด้าน มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา ก็ได้กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ได้ทุ่มเทเพื่อการศึกษาวิจัยและแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างต่อเนื่อง โดยวิธีการหนึ่งในความพยายามลดอุบัติการณ์โรคมะเร็งท่อน้ำดี คือ การทำความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในครั้งนี้ โดยจะดำเนินงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ที่พบมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออันจะส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ร่วมกันจัดหาและสนับสนุนทรัพยากร เช่น บุคลากร งบประมาณ วัสดุและอุปกรณ์สำหรับใช้ในการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้ แลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการ ระหว่างบุคลากร ร่วมกันพัฒนาบุคลากรของทั้งสามฝ่ายโดยการส่งเสริมความสัมพันธ์ในการพัฒนาโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาหรือบุคลากรระหว่างกัน ซึ่ง มข. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การทำความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์สูงสุดเพื่อการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ที่พบมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออันจะส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป”
ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้กล่าวว่า “สวทช. มีความยินดีสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่จะส่งเสริมศักยภาพและความเชี่ยวชาญเพื่อบูรณาการองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพและสาธารณสุขจากพยาธิใบไม้ตับที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีผ่านแพลตฟอร์มการวิจัยและพัฒนาหรือเทคโนโลยีฐานทางด้านสุขภาพและการแพทย์ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขให้กับประเทศ ลดการพึ่งพาและนำเข้าเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะส่งเสริมการพึ่งพาตนเองในช่วงภาวะวิกฤต
“ความร่วมมือภายใต้ข้อตกลงนี้ นำไปสู่โครงการนำร่องร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) เพื่อพัฒนานวัตกรรมการตรวจหาตัวอ่อนของพยาธิระยะติดต่อ (metacercaria) ในปลาน้ำจืดแบบ Point of Care เพื่อตัดวงจรชีวิตพยาธิใบไม้ตับ และนวัตกรรมเซนเซอร์ตรวจหาโปรตีนบ่งชี้มะเร็งท่อน้ำดีเพื่อคัดกรองผู้เสี่ยงระยะเริ่มแรกเพื่อใช้สำหรับตรวจมะเร็งท่อน้ำดีระยะเริ่มแรก ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของกลุ่มเสี่ยง และสามารถขยายความร่วมมือทางวิชาการเพื่อสุขภาพและการแพทย์ร่วมกับศูนย์แห่งชาติอื่นของ สวทช. ๆ เช่น ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) อีกด้วย”
ดร.ณรงค์กล่าวทิ้งท้ายว่า “สวทช. พร้อมสนับสนุนให้เกิดการขยายความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมทางด้านสุขภาพและการแพทย์ ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และหวังให้ความร่วมมือทางวิชาการนี้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง”
ภาพ : สวทช./ปณิธาน ศรีบุญเรือง
ข่าว : ศรัญญา สาครพุทธ