วันที่ 18 และ 19 ตุลาคม 2564 สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันฯ ร่วมกับ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมทีมวิจัย Re-OV นำโดย ศ.ดร.ไพบูลย์ สิทธิถาวร หัวหน้าทีมวิจัยฯ ได้จัดกิจกรรม “การประชุมเชิงปฏิบัติการทบทวนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ และเตรียมความพร้อมการตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับ ผ่านโปรแกรม Isan Cohort” ณ โรงแรมราชาวดีรีสอร์ท แอนด์โฮเทล จังหวัดขอนแก่น และ Online ผ่านระบบ Zoom โดยมีบุคลากรภาคการสาธารณสุข บุคคลากรทางสุขภาพในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ และเจ้าหน้าที่ประสานงานและผู้รับผิดชอบ OV-CCA ในเขตบริการสุขภาพที่ 7จากพื้นที่ 4 จังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งสองวันทั้ง Onsite และ Online จำนวนกว่า 90 คน โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด
การจัดประชุมครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมของผู้ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ เพื่อให้บุคลากรภาคการสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ได้เข้าใจ สามารถใช้งานเครื่องมือ Isan Cohort ได้ และสามารถนำเครื่องมือ OV-RDT ไปพัฒนางานบริการกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง
โดยการประชุมครั้งนี้ เริ่มด้วยการบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “การตัดวงจรพยาธิใบไม้ตับอย่างยั่งยืนเพื่อแก้ปัญหามะเร็งท่อน้ำดี” โดย ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากนั้นเป็นการบรรยาย หัวข้อ “ระบบ Isan – cohort : การลงบันทึกและการรายงานผล” โดย ดร.ชัยวัฒน์ ทะวะรุ่งเรือง โปรแกรมเมอร์อาวุโส ศูนย์วิเคราะห์และจัดการข้อมูล (DAMASAC) คณะสาธารณสุขศาสตร์ จากนั้นเป็นการบรรยายหัวข้อ “วงจรชีวิตและนวัตกรรมการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ” โดย ศ.ดร.ไพบูลย์ สิทธิถาวร หัวหน้านักวิจัยโครงการ Re-OV และการบรรยายหัวข้อ “OV-RDT reader Application สำหรับการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ” โดย อ.ดร.ธนพงศ์ อินทระ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
จากนั้นในช่วงบ่าย เป็นการสอนสาธิต การใช้ชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับชนิดเร็ว (OV-RDT) และสาธิตวิธีการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับด้วยชุดตรวจ OV-RDT ใน 4 หัวข้อ
1. การลงทะเบียนข้อมูลระบบ Isan cohort 2.การเตรียมอุปกรณ์ในการเก็บ Specimen ส่งตรวจ 3.การอ่านแปลผลและลงบันทึกผลชุดตรวจ OV-RDT 4.การให้การรักษาและข้อควรระวังในการรักษาพยาธิใบไม้ตับ โดย ดร.ชัยวัฒน์ ทะวะรุ่งเรือง/นายภาคภูมิ ขามพิทักษ์/ดร.ชนิกา วรสิษฐ/ดร.กุลธิดา ยะสะกะ และคณะทำงาน
จากนั้น เป็นการสรุปประเด็นและซักซ้อมความเข้าใจและนัดหมายการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับด้วยชุดตรวจชนิดเร็ว OV-RDT โดย นางสาวสุปราณี วรพันธุ์ ผู้จัดการโครงการฯ และคณะวิทยากร
การตรวจวินิจฉัยเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับมีปัญหามากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากการรณรงค์ในการควบคุมโรคที่ผ่านมาทำให้ความหนาแน่นของการติดเชื้อและอัตราชุกลดลง การตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโดยการตรวจอุจจาระตามวิธีมาตรฐานที่ถือปฏิบัติมาเป็นเวลานาน เช่น วิธี Kato smear มีประสิทธิภาพลดลงเป็นอย่างมาก ต้องตรวจอุจจาระซ้ำหลายครั้งหรือหลายวันจึงจะได้ผล หรืออาจเปลี่ยนวิธีตรวจเป็นการตรวจวิธีเข้มข้น เช่น วิธี Formalin ethyl-acetate concentration technique (FECT) จะได้ผลในระดับหนึ่งแต่ประสบปัญหาเนื่องจากเป็นวิธีการที่ยุ่งยากและสลับซับซ้อนเกินกว่าที่จะทำได้ในบริบทของสถานบริการสุขภาพในชุมชน ทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้ที่คือการรตรวจหาแอนติเจนของพยาธิในปัสสาวะ ทำให้สามารถค้นหาผู้ติดเชื้อพยาธิน้อยๆ ในกลุ่มที่ตรวจไม่พบไข่ในอุจจาระได้ คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี จึงได้ทำการพัฒนาชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับด้วยแอนติเจนในปัสสวะชนิดเร็ว (OV-RDT) เพื่อตอบสนองการดำเนินการในชุมชน และให้การคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับครอบคลุมอย่างทั่วถึง สามารถหาแนวทางป้องกันโรคนี้ได้ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนในวงกว้างต่อไปในอนาคต
ภาพ : วันชัย กาญจนสุรัตน์
ข่าว : ปณิธาน ศรีบุญเรือง