มข.ประชุม ร่วมคณะกรรมาธิการวิสามัญ ฯ จัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมการกระจายอำนาจและพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับชาติ

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น   พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์.ดร.พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ต้อนรับ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปัญหาอุปสรรคในการจัดบริการสาธารณะ  กิจกรรมสาธารณะ และหาแนวทางในการแก้ไขเรื่องการถ่ายโอนภารกิจ ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประชุม เรื่อง “การจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมการกระจายอำนาจและพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับชาติ” นำโดยนายกิตติศักดิ์  คณาสวัสดิ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมการกระจายอำนาจและพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับชาติ (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดมหาสารคาม)  ณ ห้องประชุมอุดร ตันติสุนทร วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น  และระบบประชุมอิเล็กทรอนิกส์

รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ด้วย รองศาสตราจารย์.ดร.พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น

 

รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวว่า  มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ลงนามความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในการพัฒนาบุคลากรท้องถิ่นทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการท้องถิ่น ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น เมื่อปี 2548 กระทั่งปี 2550 ได้จัดตั้ง “วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น” เป็นส่วนงานจัดการศึกษา วิจัย และบริการวิชาการ เพื่อตอบสนองความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศในการปฏิรูปโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอันเป็นหัวใจในการให้บริการและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นทั่วประเทศ มีปณิธานที่ชัดเจนในการมุ่งอุทิศตนเพื่อสังคม โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานและชุมชนในระดับพื้นที่ในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ด้วยผลงานวิจัยและนวัตกรรมอันเกิดจากคณาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัย และเชื่อมั่นว่า การกระจายอำนาจและการจัดให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขึ้นนั้นได้ช่วยให้พี่น้องประชาชนได้รับการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานและยกระดับคุณภาพชีวิตได้จริง ด้วยเพราะว่าเป็นหน่วยงานด่านหน้าที่รู้ปัญหาและสามารถตอบสนองประชาชนได้ทันท่วงที อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปและปรับปรุงโครงสร้างเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถใช้ศักยภาพและปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นถือเป็นกลไกอันสำคัญที่เราต้องร่วมมือกัน

“มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ยินดีที่จะร่วมกับทางรัฐบาลและหน่วยงานนิติบัญญัติที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริงและที่สำคัญคือจะต้องตอบสนองต่อความต้องการและอำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชน อย่างแท้จริง ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราทั้งสองฝ่ายจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนและรับทราบข้อมูล ปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะ การกระจายอำนาจ และการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่นระดับชาติ เพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาเพื่อหาแนวทางการแก้ไขเรื่องดังกล่าวต่อไป”  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น 

นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมการกระจายอำนาจและพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับชาติ (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดมหาสารคาม)

นายกิตติศักดิ์  คณาสวัสดิ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมการกระจายอำนาจและพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับชาติ (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดมหาสารคาม)  กล่าวว่า หน้าที่ของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมการกระจายอำนาจและพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับชาติ ประกอบด้วย 3 ส่วนงานด้วยกัน ได้แก่ การจัดการแหล่งน้ำให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นที่มีปัญหา  การปกครองรูปแบบพิเศษ เช่น กรุงเทพมหานคร  เมืองพัทยา  และการจัดตั้งหน่วยงาน กระทรวง หรือหน่วยงานอื่นที่เทียบเท่ากระทรวงท้องถิ่น สำหรับการจัดประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมการกระจายอำนาจและพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับชาติ

“ชื่นชม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เรื่อง แนวคิดการแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนในทุกระดับ การปกครองท้องถิ่นถือว่ามีความสำคัญคือหัวใจของการบริหารประเทศ เป็นที่ทราบกันดีว่าทุกประเทศทั่วโลกให้งบประมาณท้องถิ่นเกินกว่าร้อยละ 60-70 ส่วนใหญ่จะไม่มีส่วนภูมิภาคจะเป็น ส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเลย  ส่วนประเทศไทยมีหน่วยบริหารการปกครองท้องถิ่นแบบย่อยจำนวนมาก เช่นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ในประเทศเราค่อนข้างจะแตกต่างกว่าที่อื่น โครงสร้างพื้นฐาน แหล่งน้ำ เรื่องสาธารณสุข บุคลากรโครงสร้างต่าง ๆ กรมที่ควบคุมการทำงานมีหลายหน่วย จึงทำให้การก้าวเดินไม่คล่องตัวนัก   เราจึงจำเป็นต้องตั้งกระทรวง หรือ หน่วยงานที่กำกับดูแลท้องถิ่น ทำงานแล้วโต้ตอบได้ทันที รวดเร็ว สะดวก เราต้องช่วยกันดีไซน์ และไม่เปลือง งบประมาณของประเทศ  ขณะเดียวกันก็สามารถขับเคลื่อนพัฒนาท้องถิ่นได้จริง นี่คือเป้าหมายหลัก  หน่วยงานลักษณะไหนจะเกิดการทำงานที่คุ้มค่า หาจุดสมดุลที่เป็นไปได้กับกระทรวงต้นสังกัดเดิมคือกระทรวงมหาดไทย เราจึงมาขอความคิดเห็นกับนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญ ว่าโมเดลต้นแบบจะเป็นอย่างไร ตอบโจทย์ประเทศอย่างไร เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างดีในอนาคต”  ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมการกระจายอำนาจและพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับชาติ  กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้การประชุมเป็นไปอย่างเข้มข้นโดยได้รับเกียรติจากนักวิชาการผู้มีความเชี่ยวชาญเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปัญหาอุปสรรคในการจัดบริการสาธารณะ  กิจกรรมสาธารณะ และหาแนวทางในการแก้ไขเรื่องการถ่ายโอนภารกิจ ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ร่วมเสนอความคิดเห็นกว่า 40 ท่าน

ข่าว จิราพร ประทุมชัย

ภาพ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น

Scroll to Top