สีดินแดง หรือ สีอิฐ เป็นสีประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่ง ว่า “มอดินแดง” เพื่อสร้างผ้าไหมอัตลักษณ์ของ มข. จึงอบรมการย้อมไหมด้วยดินแดงให้กับกลุ่มวิสาหกิจทอผ้าไหม ต.ท่ากระเสริม
สำนักบริการวิชาการ มข. จัดอบรม “ถ่ายทอดมรดกทางภูมิปัญญาการย้อมผ้าด้วยดินแดงมหาวิทยาลัยขอนแก่น และการทอผ้าไหมมอดินแดง” ระหว่างวันที่ 26 – 27 สิงหาคม 2564 ณ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ขอนแก่น และ อบต.ท่ากระเสริม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ด้วยวิธีออนไลน์ วิทยากรจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ขอนแก่น
รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ กล่าวเปิดโครงการว่า “สีดินแดง หรือ สีอิฐ เป็นสีประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่ง ว่า “มอดินแดง” คำว่า “มอดินแดง” หมายถึง เนินสูงที่มีสีแดง บริเวณมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีดินสีแดงเป็นส่วนใหญ่ สำนักบริการวิชาการ มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจทอผ้าไหม บ้านท่ากระเสริม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และเพื่อเป็นการสร้างผ้าไหมอัตลักษณ์ด้วยสีแห่งดินแดง จึงมีความสนใจศึกษาเปรียบเทียบความเข้ม และความคงทนของสีดินแดงจากสถานที่ต่าง ๆ 4 แห่งคือ 1) ศาลเจ้าพ่อมอดินแดง 2) โรงเรียนสาธิตศึกษาศาสตร์ 3) โรงเรียนสาธิตมอดินแดง และ 4) ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก จึงจัดอบรมการย้อมเส้นไหม เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มวิสาหกิจทอผ้าไหมบ้านท่ากระเสริมทอผ้าไหมมอดินแดง และขอการรับรองมาตรฐานการทอผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานต่อไป”
รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ กล่าวต่อไปว่า “ขอขอบคุณองค์การบริการส่วนตำบลท่ากระเสริม และศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ขอนแก่น ที่ร่วมเป็นภาคีในการทำงานร่วมกันในครั้งนี้ และมีเป้าหมายร่วมกันพัฒนาส่งเสริมต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการพัฒนาผ้าไหมให้มีความเป็นอัตลักษณ์ให้ได้รับการยอมรับในระดับชาติ หรือ นานาชาติต่อไป”
นายสุพจน์ บรรเทา วิทยากร กล่าวว่า “การจัดอบรมครั้งนี้ จะเป็นการปฏิบัติการย้อมไหมสีดินแดงจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในสถานที่ต่างกัน คือ 1) ศาลเจ้าพ่อมอดินแดง 2) โรงเรียนสาธิตศึกษาศาสตร์ 3) โรงเรียนสาธิตมอดินแดง และ 4) ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก ด้วยวิธีการย้อมธรรมชาติแบบเข้มข้น ประกอบด้วย 1) เส้นไหมพร้อมย้อม จำนวน 1 กก. 2) ดินแดงจากที่ต่าง ๆ ของ มข. แหล่งละ 4 กก. 3) น้ำที่มีสภาพเป็นกลาง 20 ลิตร วิธีการ คือ 1) นำดินแดงมานวดละเอียดกับน้ำ 10 ลิตรก่อน เสร็จแล้วกรองเอาแต่น้ำ เติมน้ำอีกให้ครบ 20 ลิตร 2) เติมสารช่วยย้อมเป็นสารส้มหรือเกลือ 200 กรัม แล้วหมักทิ้งไว้ 3-4 ชั่วโมง 3) นำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม 4) ล้างออกด้วยน้ำสะอาด แล้วนำไปตากในที่ปลอดแสงให้แห้ง ก่อนนำผ้าไหมไปทอ”
จากนั้นสำนักบริการวิชาการ จะนำผ้าไหมที่ได้จากการย้อม ให้กลุ่มวิสาหกิจทอผ้าไหมท่ากระเสริม ทอ และนำไปขอการรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทานต่อไป