เมื่อวันที่ 26-27 มิถุนายน 2564 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง มข.โคบาลอาสาในการรักษาสุขภาพโคเบื้องต้นเนื่องจากโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ภายใต้การดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล หรือ U2T) ณ โดมอเนกประสงค์บ้านโคกกลาง หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรในชุมชนมีความรู้และทักษาะในการรักษาโคในชุมชนเบื้องต้นเกี่ยวกับโรคลัมปี สกิน โปรแกรมการรักษาและฝึกปฏิบัติการรักษาสุขภาพโคเบื้อต้นเนื่องจากโรคลัมปี สกิน ได้แก่ การควบคุมบังคับโคด้วยเชือก การตรวจวัดอุณหภูมิวัดไข้ การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ และการเลือกใช้ยา โดยมี ผศ.ดร.อรุณี พรมคำบุตร หัวหน้าสาขาส่งเสริมการเกษตรและเชิงเกษตรเชิงระบบ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ประสานงาน และติดตามผลการดำเนินงานโครงการ ฯ ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น
การจัดอบรมดังกล่าว เป็นผลมาจากมาจากการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease : LSD) ในโค อย่างรุนแรงในพื้นที่ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคได้รับความเดือดร้อน มีโคป่วยในพื้นที่จำนวนมาก และมีการตายจำนวนหนึ่ง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจของชุมชน อีกทั้งโรคดังกล่าวเป็นโรคอุบัติใหม่ เกษตรกรยังขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและรักษาโรคดังกล่าว รศ.ดร.กฤตพล สมมาตย์ อาจารย์สาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้รับเชิญเป็นวิทยากรผู้ดำเนินกิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงโคในพื้นที่ เล็งเห็นว่า การพัฒนาองค์ความรู้ในการรักษาที่ถูกต้องและการฝึกทักษะในการรักษา โดยคนในชุมชนได้เอง จะทำให้เกษตรกรสามารถรักษาโคป่วยได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะทำให้ลดอัตราการตาย และความเสียหายทางธุรกิจให้กับเกษตรกรได้ จึงจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง มข.โคบาลอาสาในการรักษาสุขภาพโคเบื้องต้นเนื่องจากโรคลัมปี สกิน ร่วมกับ ผศ.น.สพ.ชัยวัฒน์ จรัสแสง อาจารย์คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมีนายภูวดล บินสุหลง นักศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวิชาสัตวศาสตร์ นายเจนวิทย์ นุศรีอัน นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาสัตวศาสตร์ และนางสาวน้ำอ้อย แสงทอง เป็นผู้ช่วยวิทยากร การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ มีหลักสูตรในการฝึกอบรมคือ 1.วิธีการควบคุมบังคับวัวด้วยเชือก 2.วิธีการตรวจอุณหภูมิวัดไข้โคเนื้อด้วยปรอดวัดไข้ 39.5 ℃ 3.วิธีการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ 4.วิธีการเลือกใช้ยาภายนอกและยาฉีดแก้ปวด ลดไข้ และปฏิชีวนะ 5.โปรแกรมการรักษาโรคลัมปี สกิน (สำหรับโคท้อง/ โคไม่ท้องทั่วไป)
กิจกรรมครั้งนี้ มีผู้นำชุมชน และเกษตรกร เข้าร่วมฝึกอบรมจาก 3 หมู่บ้านคือบ้านโคกกลาง บ้านโนนสมนึก และบ้านหันแฮด จำนวน 30 คน และมีการฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าวให้กับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ทั้งบัณฑิตและประชาชน เพื่อให้มีความรู้และทักษะในการให้คำแนะนำและให้บริการแก่คนในชุมชนร่วมกับโคบาลอาสา โดยมีผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมเบื้องต้นและสามารถปฏิบัติงานได้จำนวน 13 คน และต่อมาได้ขยายกิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ มข. โคบาลอาสา จนครอบทั้ง 8 หมู่บ้านในตำบล โดยมีวิทยากรเป็นผู้ผ่านการฝึกอบรม มข. โคบาลอาสารุ่นที่ 1 คือนายก้องกังวาลย์ ชินน้อย และนายสาคร แก้วสุพรรณ และผู้ปฏิบัติงานมหาวิทยาลัยสู่ตำบลในพื้นที่คือนายอภิสิทธิ์ วงษ์แวง และนางสาวนภากาญจน์ บัวโฮม เป็นวิทยากรผู้ช่วย โดยมีนายเจนวิทย์ นุศรีอัน เป็นพี่เลี้ยงในการฝึกอบรม ปัจจุบันตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น มี มข.โคบาลอาสาทั้งหมด 21 คน มีวัวที่รักษาทั้งหมด 26 ตัว หายดีแล้ว 17 ตัว กำลังรักษา 9 ตัว
สุดท้ายนี้โครงการฯ ขอขอบคุณนายมนต์ชัย ดวงสว่าง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ในการให้ความร่วมมือ สนับสนุนการฝึกอบรม โครงการฯ ขอขอบคุณปศุสัตว์อำเภอชนบท นายมนตรี นาบุตรบุญ ที่ได้ให้ความเห็นชอบและคำแนะนำในการดำเนินโครงการ โครงการฯ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากผู้นำชุมชน ปศุสัตว์อาสา และเกษตรกรในพื้นที่ที่เข้าร่วมอบรมดังกล่าวและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่มาขอใช้บริการด้วยจิตอาสา โครงการฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดอบรมนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรผู้เลี้ยงโคในพื้นที่ให้สามา
รถผ่านพ้นวิฤตการณ์ในครั้งนี้ไปได้
ข่าว : นางสาววราภรณ์ สวัสดิ์นะที และ นางสาวอรปรียา เกรียงศรี (ผู้ปฏิบัติงานมหาวิทยาลัยสู่ตำบลบ้านแท่น)
ภาพ: ทีมมหาวิทยาลัยสู่ตำบลบ้านแท่น