เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 เวลา 08.30-17.00 น. คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การผลิตและการใช้ประโยชน์แมลงโปรตีน ภายใต้โครงการพัฒนาการผลิตและใช้โปรตีนจากแมลง เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร. ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ กล่าวเปิดงาน ศ.ดร. ยุพา หาญบุญทรง หัวหน้าโครงการ กล่าวรายงาน โดยผู้เข้าร่วมอบรมประกอบไปด้วยกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาและเลี้ยงไก่ จำนวน 40 คน (รุ่นที่ 1) ณ หมวดแมลงอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศ.ดร. ยุพา หาญบุญทรง และหัวหน้าโครงการ กล่าว การฝึกอบรมเรื่องนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการพัฒนาการผลิตและใช้โปรตีนจากแมลง เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาการผลิตโปรตีนทดแทนจากแมลงใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์
ศ.ดร. ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ กล่าว ต้นทุนการผลิตสัตว์บกหรือสัตว์น้ำ ประมาณ 70% ของปัจจัยการผลิตทั้งหมดเป็นค่าอาหารเลี้ยง โดยปลาป่นถูกใช้เป็นวัตถุดิบหลักที่เป็นแหล่งโปรตีนสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ แต่ความต้องการมีจำนวนมากขึ้นทุกปี ประกอบกับวิกฤติการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ปลาป่นมีปริมาณไม่เพียงพอ และมีราคาสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ ดังนั้น ปัจจุบันการใช้โปรตีนจากแมลงเป็นวัตถุดิบโปรตีนทางเลือกในการผลิตอาหารสัตว์ จึงได้รับความนิยม
แมลงโปรตีนหรือ Black Soldier Fly เป็นหนึ่งในแมลงที่มีศักยภาพซึ่งตัวแมลงมีคุณค่าทางโภชนสารต่าง ๆ โดยเฉพาะสารโปรตีนในปริมาณสูง และมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อความต้องการของสัตว์ที่ใช้ในการเจริญเติบโต และเป็นที่ยอมรับในการนำมาใช้เป็นโปรตีนทางเลือกของการผลิตอาหารสัตว์ได้
เมื่อปี พ.ศ. 2562 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมทุนกับบริษัทเบทาโกร จำกัด (มหาชน) ในการจัดสร้างโรงเรือนต้นแบบวิจัยและพัฒนาการผลิตแมลงอุตสากรรม ณ หมวดแมลงอุตสาหกรรม ของคณะเกษตรศาสตร์ ที่นี้ ซึ่งปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยด้านแมลงโปรตีนหรือ Black Soldier Fly เพื่อการใช้ประโยชน์จากตัวแมลงในด้านต่างๆ เช่น การใช้กำจัดขยะอินทรีย์ การใช้เป็นแหล่งโปรตีนในการผลิตอาหารสัตว์ การผลิตสารต้านเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อโรคในสัตว์ เป็นต้น ทำให้ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีบุคลากรที่มีองค์ความรู้ที่เข้มแข็งทางด้านการผลิตและใช้ประโยชน์จากแมลงโปรตีน
ดังนั้น จึงหวังว่า ทุกท่านที่ได้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับความรู้ในเรื่องการผลิตและการใช้ประโยชน์จากแมลงโปรตีน และสามารถนำไปใช้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์ หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเป็นอาหารสัตว์เศรษฐกิจอื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้
การฝึกอบรมนี้จัดขึ้นสำหรับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา และเลี้ยงไก่ กลุ่มที่หนึ่ง จากทั้งหมด จำนวน 300 คน จากจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม และสุรินทร์ แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงแบ่งการฝึกอบรมเป็น 9 ครั้งๆ ละ ไม่เกิน 40 คน ซึ่งผู้เข้าร่วมฝึกอบรมในวันนี้ เป็นกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ จากอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนเเก่น เเละเกษตรกรรายย่อย โดยการฝึกอบรมจะเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งภาคบรรยาย
เรื่อง “ความรู้พื้นฐาน และการนำไปใช้ประโยชน์” โดย ศ.ดร. ยุพา หาญบุญทรง “การเพาะเลี้ยง” โดย ผศ.ดร. ทัศนีย์ แจ่มจรรยา และนายบวรทัช สิงห์เดช “การแปรรูป ผลิตภัณฑ์ และการตลาด” โดย ดร. ชุตินันท์ ชูสาย และนายปัญญา มัฆวาลย์ “การประยุกต์ใช้สำหรับเป็นอาหารไก่” โดย ผศ.ดร. สาวิตรี วงศ์ตั้งถิ่นฐาน และนางสาวรัตนากร พรสุวรรณ “การประยุกต์ใช้สำหรับเป็นอาหารปลา” โดย รศ.ดร. บัณฑิต ยวงสร้อย
และภาคฝึกปฏิบัติ ประกอบด้วย
ฐานที่ 1 การเก็บไข่ การบ่มไข่ และการอนุบาลหนอน
ฐานที่ 2 การเลี้ยงหนอน
ฐานที่ 3 การเก็บดักแด้ ตัวเต็มวัย (การผสมพันธุ์ วางไข่)
ฐานที่ 4 การเก็บเกี่ยวผลผลิต การร่อนหนอน
และ ฐานที่ 5 การแปรรูป อบแห้ง สกัดน้ำมัน ผงโปรตีน การผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูปไก่ และปลา
ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมฝึกอบรม จะสามารถนำเอาความรู้นี้ กลับไปใช้ และปฏิบัติได้ต่อไป