เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564 (วันนี้) สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น National Institute for School Teacher and Staff Development (NITS) ประเทศญี่ปุ่น จัดพิธีเปิด โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2563 ระยะที่ 2 โดยมี Mr.Katsumi Arase President of National Institute for school teachers and staff development ดร.ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต้อนรับ รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน ผ่านทาง VIDEO CONFERENCE ในการนี้มี รองศาสตราจารย์ ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารและรองผู้บริหารสถานศึกษา ครู และศึกษานิเทศก์ เข้าร่วมโครงการ ณ ห้องประชุม 101 ชั้น 1 อาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ผ่านทางออนไลน์
รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ในครั้งนี้เป็นโครงการตามนโยบายมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เน้นประเด็นการปรับเปลี่ยนการบริการวิชาการ (Academic Service Transformation) เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาของสังคม (Center of Social Wisdom) พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนการบริการวิชาการจากความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) สู่การสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value : CSV) จากการดำเนินงานระยะที่ 1 ระหว่างวันที่ 25 – 28 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมการอบรมทุกท่าน ได้ร่วมเรียนรู้ในกิจกรรมเปิดชั้นเรียน (Open Class) ตามกระบวนการการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ในชั้นเรียนจริง ณ โรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์) จังหวัดขอนแก่น ทำให้มีความรู้ความเข้าใจ พร้อมทั้งแนวทางเกี่ยวกับการจัดการชั้นเรียนด้วยนวัตกรรม Lesson Study และ Open Approach และบริบทการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษามากขึ้น
“กิจกรรมครั้งนี้เป็นการจัดกิจกรรมระยะที่ 2 ดำเนินการโดย สถาบัน National Institute for School Teachers and Staff Development (NITS) ประเทศญี่ปุ่น ผู้เข้ารับการอบรมจะได้ร่วมเรียนรู้ในกิจกรรมการจัดการชั้นเรียนจากกรณีศึกษาและกระบวนการพัฒนาของประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการชาวไทยและวิทยากรชาวญี่ปุ่น นับว่าเป็นการร่วมมือกับเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษากับต่างประเทศ ที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนและส่งเสริมการจัดการการศึกษา และนำมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นนานาชาติ อีกทั้งยังช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาทั้งด้านการจัดการศึกษา การวิจัย และการบริการ ให้มีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด” อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ช่วงเช้าเป็นการชม VDO จากชั้นเรียน Ishiki Junior High School, Kagoshima Class 2-3 โดยมี Mr.Takahiro Miyasako เป็นผู้สอน ช่วงบ่ายผู้เข้าอบรมแยกตามห้องเพื่อเสวนากลุ่ม
ทั้งนี้โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษานี้เป็นความร่วมมือของ 4 ฝ่าย ประกอบด้วย 1. สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2. สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา 3. สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และ 4. National Institute for School Teachers and Staff Development (NITS) ประเทศญี่ปุ่น จัดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ให้มีศักยภาพด้านการพัฒนาทางด้านการจัดการองค์ความรู้ด้านการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) การจัดการชั้นเรียนให้มีคุณภาพ (Classroom management) และภาวะผู้นำ (Leadership) ปัจจุบันจัดเป็น รุ่นที่ 3 กำหนดจัดในระหว่างวันที่ 21 – 26 เมษายน 2564 การดำเนินโครงการในแต่ละรุ่น แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 การพัฒนาเกี่ยวกับบริบทการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ระยะที่ 2 การเข้าร่วมการพัฒนาเกี่ยวกับการจัดการชั้นเรียน และกระบวนการพัฒนาของประเทศญี่ปุ่น ณ สถาบัน NITS ประเทศญี่ปุ่น แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงปรับเปลี่ยนการดำเนินการ จากการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เป็นการเข้าร่วมการพัฒนาทางออนไลน์
ระยะที่ 3 การนำความรู้ที่ได้จากการพัฒนาไปประยุกต์ใช้ในสถานศึกษา
ระยะที่ 4 การติดตามและประเมินผล ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา