สำนักข่าว : กรมการประชาสัมพันธ์
URL : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG210324184838752
วันที่เผยแพร่ : 24 มีนาคม 2564
ที่ โรงเรียนอุบลรัตน์พิทยาคม อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น นายอัครวัฒน์ อัศวเหม ประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร นำคณะกรรมาธิการฯ ลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงาน ตามโครงการ โครงการพัฒนาสมรรถนะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วยนวัตกรรม หรือ KKU Smart Learning ซึ่งโรงเรียนอุบลรัตน์พิทยาคม จ.ขอนแก่น เป็นโรงเรียนต้นแบบของการดำเนินงานดังกล่าวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท่ามกลางความสนใจจากบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ภาคอีสานร่วมชมนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงาน ผ่านนิทรรศการที่โรงเรียนได้จัดทำขึ้น รวมทั้งการให้คณะทำงานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ คณาจารย์ ได้นำเสนอผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปีที่ผ่านมา และการชมห้องเรียนรายวิชาคณิตศาสตร์,ภาษาอังกฤษ และวิชาวิทยาศาสตร์ ในระดับชั้น ม.1 – ม.3 ตามแนวทางการจัดการเรียนการสอนในขั้นตอนของการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวทั้งหมด
นายอัครวัฒน์ อัศวเหม ประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า โครงการพัฒนาสมรรถนะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วยนวัตกรรม ” KKU Smart Learning” เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจของนักเรียนในสาระวิชาพื้นฐาน ประกอด้วย วิชาวิทยาศาสตร์ ,คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ ควบคู่กับการส่งเสริมทักษะนวัตกรรมพัฒนาการเรียนรู้ ทักษะด้านสื่อ สารสนเทศและเทคโนโลยี และทักษะด้านชีวิตและอาชีพ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ พัฒนาการสอบของเด็กนักเรียนในการวัด PISA ครั้งต่อไปต้องดีขึ้น, ผลสอบคะแนน O-Net ของนักเรียนต้องดีขึ้นและสมรรถนะการเรียนรู้ของนักเรียนต้องดีขึ้น ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนที่เข้าร่วมดำเนินการในโครงการดังกล่าว โดยที่คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เข้ามาร่วมลงมือเพื่อช่วยกันพัฒนาเพิ่มศักยภาพการจัดการเรียนการสอนของครู ด้วยการส่งเสริมความรู้ความสามารถด้านการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ พัฒนาความรู้ความเข้าใจในเนื้อหารายวิชาที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอน
” ปัจจุบันการดำเนินงานดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่ม โรงเรียนสังกัด สพฐ. ครอบคลุม 20 จังหวัดภาคอีสาน จำนวน 204 โรงเรียน และโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จำนวน 16 โรงเรียน และที่สำคัญจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น การเรียนการสอนในยุคดิจิทัลที่มีเครื่องมือเทคโนโลยีจึงเข้ามามีบทบาท ดังนั้นในนวัตกรรมของโครงการ KKU Smart Learning จึงเป็นเครื่องการันตีและแสดงให้เห็นว่าการจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ จึงขอชื่นชมการทำงานของ มข.ที่มาถูกทาง ทำได้ดีและทำได้จริง”
นายอัครวัฒน์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่สำคัญคือระบบการเรียนดังกล่าวนั้นผู้เรียนจะต้องได้รับความรู้ในเนื้อหาของหลักสูตรในระดับชั้นที่เรียน ได้รับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้โดยผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ การเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อและเทคโนโลยี และชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมสอดคล้องกับเนื้อหา อย่างไรก็ตามเมื่อได้ลงพื้นที่ดูโรงเรียนต้นแบบและดูแนวทางการดำเนินงานที่ภาคอีสานทำให้เห็นได้เป็นที่เด่นชัด จะมีการนำเสนอต่อรัฐบาลได้การขยายการเรียนการสอนดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งประเทศต่อไป เพราะเมื่อขอนแก่น มีหลายจังหวัดในภาคอีสานมี จ.สมุทรปราการ ที่ตนเองนั้นรับผิดชอบ ก็จะต้องมีด้วย ซึ่งหากจะมองแต่งบประมาณและนำสัดส่วนมาบวกลบคุณหาร บางทีก็ไม่ทั่วถึง แต่หากเน้นหนักไปในกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาส โรงเรียนที่ห่างไกล และโรงเรียนเฉพาะทาง จากการนำระบบดังกล่าวนี้มาใช้ ด้วยการถอดแบบจาก มข. ขยายไปยังทุกพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ หรืออาจจะเป็นความร่วมมือร่วมระหว่างมหาวิทยาลัย ของแต่ละภูมิภาค เชื่อได้ว่าทุกจังหวัดจะได้รับการพัฒนาระบบการเรียนการสอน ที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศตามนโยบาย 4.0 ที่รัฐบาลได้กำหนดไว้อย่างได้อย่างชัดเจนจนนำไปสู่การพัฒนาด้านการศึกษาของไทย ได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง