แมลงช้างกรามโตชนิดใหม่ของโลก

แมลงช้างกรามโตทัศนัย หรือ แมลงช้างกรามโตจีนทอง
ชื่อวิทยาศาสตร์: Nevromus jeenthongi Piraonapicha, Jaitrong, Liu & Sangpradub, 2021
ชื่ออื่น: ตะขาบน้ำ อีตือ หงีด ไซบางทา

แมลงช้างกรามโตทัศนัย Nevromus jeenthongi ถูกบรรยายเป็นแมลงชนิดใหม่ของโลกโดย กัลยกร พิราอรอภิชา นักศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้การดูแลของ รองศาสตราจารย์ ดร. นฤมล แสงประดับ อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก และ ดร.วียวัฒน์ ใจตรง พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ประเทศไทย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม

แมลงช้างกรามโตทัศนัย ได้ถูกบรรยายเป็นแมลงชนิดใหม่ของโลกจากการศึกษาตัวอย่าง ที่ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ตัวอย่างที่ศึกษาถูกเก็บโดย คุณทัศนัย จีนทอง จากจังหวัดนครศรีธรรมราช และผลงานนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Tropical Natural History ฉบับที่ 21 เล่มที่ 1 หน้า 107-114 เดือนเมษายน พ.ศ. 2564 โดยให้ชื่อว่าแมลงช้างกรามโตทัศนัย Nevromus jeenthongi Piraonapicha, Jaitrong, Liu & Sangpradub, 2021 ตามชื่อสกุลของคุณทัศนัย จีนทอง ผู้เก็บตัวอย่าง

แมลงชนิดนี้มีลักษณะเด่นคือ สีของส่วนหัว อก และลำตัวสีเหลือง ส่วนของ ninth sternum ของอวัยวะสืบพันธุ์ขยายใหญ่ และด้านข้างของอวัยวะสืบพันธุ์ ส่วนขอบด้านบนของ tenth gonocoxite เว้าลงเห็นได้ชัดเจน แมลงช้างกรามโตสกุล Nevromus นี้ นอกจากแมลงช้างกรามโตทัศนัยแล้ว ในประเทศยังพบแมลงช้างกรามโต aspoeck (Nevromus aspoeck Liu, Hayashi & Yang, 2012) ด้วย ตัวอ่อนแมลงช้างกรามโตสกุลนี้อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดี โดยเฉพาะบริเวณลำธารต้นน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำ ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำสูง จึงอาจใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงบริเวณแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดี งานวิจัยนี้เป็นความร่วมมือทางวิชาการกับ Prof. Dr. Xingyue Liu จาก Department of Entomology, China Agricultural University สาธารณรัฐประชาชนจีน และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สบว.)

แมลงช้างกรามโต
แมลงช้างกรามโต จัดอยู่ในอันดับ Megaloptera แมลงในอันดับนี้เป็นกลุ่มที่มีลักษณะโบราณที่สุดกลุ่มหนึ่งในบรรดาแมลงที่มีปีกเจริญภายในลำตัว (Endopterygota) ซึ่งมีการเจริญเติบโตเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ (Complete metamorphosis) โดยมีเพียงระยะตัวอ่อนเท่านั้นที่อาศัยอยู่ในน้ำ

แมลงช้างกรามโตเป็นสมาชิกกลุ่มหนึ่งของแมลงน้ำ ตัวอ่อนมีนิสัยเป็นผู้ล่า กินแมลง หรือสัตว์อื่น ๆ ที่มีขนาดเล็ก ในแหล่งน้ำเป็นอาหาร จัดเป็นผู้บริโภคลำดับที่สองในโซ่อาหาร และเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำขนาดใหญ่ มีบทบาทในการหมุนเวียนแร่ธาตุในระบบนิเวศ บางชนิดตัวอ่อนอาศัยอยู่เฉพาะในแหล่งน้ำที่สะอาด และมีอุณหภูมิต่ำ ขณะที่บางชนิดมีความทนต่อมลพิษสามารถอาศัยในน้ำที่มีการปนเปื้อนของโลหะหนักได้ เช่น Indosialis bannaensis Liu, Yang & Hayashi, 2006 และ Indosialis siamensis Piraonapicha, Sangpradub, Jaitrong & Liu, 2020 (Piraonapicha et al., 2020) รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะสามารถนำไปใช้ศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกได้ด้วย นอกจากนี้บางพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มชนเผ่าที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทยมีการนำตัวอ่อนแมลงช้างกรามโตมาประกอบอาหาร

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าว/ภาพ
โดย กัลยกร พิราอรอภิชา นักศึกษาปริญญาเอก สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Scroll to Top