มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สำนักข่าว : sanook

URL :  https://www.sanook.com/campus/925024/

วันที่เผยแพร่ : 8 มีนาคม 2564

Khon Kaen University (KKU)

ก่อตั้ง: พ.ศ. 2509

ต้นไม่ประจำสถาบัน: ต้นกัลปพฤกษ์

สีประจำสถาบัน: สีดินแดง

จำนวนคณะ: 21 คณะ 4

จำนวนนักศึกษา: ประมาณ 34,382 คน

อัตราค่าเล่าเรียน: เหมาจ่ายภาคการศึกษาละ 8,000-12,000 บาท

ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์:

วิทยาเขตขอนแก่น 123 ถนนมิตรภาพ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

โทร. 0 4324 6534-53

วิทยาเขตหนองคาย 112 ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย

โทร. 0 4241 5600

เว็บไซต์: www.kku.ac.th, www.nkc.kku.ac.th (หนองคาย)

 

“มข. เป็นศูนย์รวมทางความคิด สติปัญญาของสังคม และเป็นศูนย์รวมทางการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”

 

ประวัติ

มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้กำเนิดของมหาวทิยาลัยจะมีแนวความคิดย้อนหลังไปได้ถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่การเตรียมการก่อสร้างอย่างจริงจังเริ่มมีขึ้นตั้งแต่รัฐบาล ฯพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่เริ่มพัฒนาภูมิภาคส่วนนี้ของประเทศเมื่อ พ.ศ. 2505 และได้ลงมือก่อสร้างในปี 2507 โดยมีมติจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ขึ้นที่บ้านสีฐาน จ.ขอนแก่น และเสนอชื่อสถาบันนี้ว่า “มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Khon Kaen Institute of Technology” ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยขอนแก่น” โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่นประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2509 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาของมหาวิทยาลัย

ม. ขอนแก่น ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 5,800 ไร่ ซึ่งมีลักษณะเป็นเนินดินลูกคลื่นสีแดง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “มอดินแดง” และในปี 2537 ม.ขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคของรัฐบาล และเริ่มเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี 2541

มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นศูนย์รวมทางความคิด สติปัญญาของสังคม และเป็นศูนย์รวมการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ภูมิภาค และเนื่องจากมีที่ตั้งอยู่กลางภูมิภาคอินโดจีน จึงนับเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทอย่างมากในการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและวิชาการแก่ประเทศต่างๆ ในแถบนี้ โดยเฉพาะในด้านการศึกษา การฝึกอบรม และการให้ความช่วยเหลือด้านผู้เชี่ยวชาญเพื่อการวิจัยการเกษตรและการสาธารณสุข ตลอดจนเป็นฐานของความช่วยเหลือทางวิชาการจากประเทศที่สาม ขณะนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นแหล่งฝึกอบรมระยะสั้น การศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทของนักศึกษาจากประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม นอกจากนั้นยังมีโครงการเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติอีกหลายสาชาวิชาเพื่อให้นักศึกษาประเทศเพื่อนบ้านได้นำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาประเทศของตน

สัญลักษณ์

ตราประจำมหาวิทยาลัยเป็น “รูปเทพยดากระหนาบองค์พระธาตุพนม” อัญเชิญมิ่งมงคลประทานแก่สถาบัน สถิตเหนือขอนไม้ ซึ่งสลักเป็นชื่อมหาวิทยาลัย พื้นหลังแบ่งเป็น 3 ช่อง มีความหมายว่า คุณธรรมของนักศึกษา 3 ประการ ได้แก่ วิทยา (ความรู้ดี) จริยา (ความประพฤติดี) และปัญญา (ความฉลาด เกิดแต่การเรียนดี และคิดดี)

สีประจำมหาวิทยาลัยคือ “สีดินแดง” อันมีความหมายโยงไปถึงลักษณะ และภูมินามของพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย

“ดอกกัลปพฤกษ์” เป็นต้นไม้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกพระราชาทานเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2510

มีอะไรเรียนบ้าง วิทยาเขตขอนแก่น

1.คณะวิทยาศาสตร์

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต

  • ชีววิทยา
  • เคมี
  • คณิตศาสตร์
  • ฟิสิกส์
  • สถิติ
  • จุลชีววิทยา
  • วิทยาการคอมพิวเตอร์ (ปกติ และโครงการพิเศษ)
  • ชีวเคมี
  • วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
  • คณิตศาสตร์ประยุกต์
  • เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ปกติและโครงการพิเศษ)
  • ภูมิสารสนเทศศาสตร์ (ปกติ และโครงการพิเศษ)

2.คณะเกษตรศาสตร์

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต

  • พืชไร่
  • สัตวศาสตร์
  • ปฐพีศาสตร์
  • เกษตรทั่วไป
  • เศรษฐศาสตร์การเกษตร
  • กีฏวิทยา
  • โรคพืชวิทยา
  • พืชสวน
  • การประมง
  • ส่งเสริมการเกษตร
  • ทรัพยากรที่ดินและสิ่งแวดล้อม
  • หลักสูตรเกษตรศาสตรบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2 ปี)
  • ส่งเสริมการเกษตร

3.คณะวิศวกรรมศาสตร์

หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต

  • วิศวกรรมโยธา (ปกติ และโครงการพิเศษ)
  • วิศวกรรมไฟฟ้า (ปกติ และโครงการพิเศษ)
  • วิศวกรรมเกษตร
  • วิศวกรรมอุตสาหการ (ปกติ และโครงการพิเศษ)
  • วิศวกรรมเครื่องกล (ปกติ และโครงการพิเศษ)
  • วิศวกรรมเคมี
  • วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (ปกติ และโครงการพิเศษ)
  • วิศวกรรมคอมพิวเตอร์
  • International Double Degree Programmes (collaborative programme with University of Regina)
  • Electrical Engineering
  • Industrial Engineering
  • Environmental Engineering
  1. คณะศึกษาศาสตร์

หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต (5 ปี)

  • คณิตศาสตร์ศึกษา
  • วิทยาศาสตร์ศึกษา
  • การสอนภาษาไทย
  • สังคมศึกษา
  • ศิลปศึกษา
  • คอมพิวเตอร์ศึกษา
  • การสอนภาษาญี่ปุ่น

International Double Degree Programmes

– Teaching English to Speakers of Other Languages & English Education (collaborative programme with Northern Arizona University, USA)

– Teaching Chinese as a Foreign Language (collaborative programme with Southwest University)

  1. คณะแพทยศาสตร์

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (6 ปี)

  • แพทยศาสตร์

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต

  • วิทยาศาสตร์การแพทย์ (6 ปี)
  • รังสีเทคนิค (ต่อเนื่อง 2 ปี)
  • เวชนิทัศน์ (ต่อเนื่อง 2 ปี)
  1. คณะพยาบาลศาสตร์

หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต

– พยาบาลศาสตร์

  1. คณะเทคนิคการแพทย์

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต

  • เทคนิคการแพทย์ (ปกติ และโครงการพิเศษ)
  • กายภาพบำบัด
  1. คณะทันตแพทยศาสตร์

หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (6 ปี)

– ทันตแพทยศาสตร์

  1. คณะสาธารณสุขศาสตร์

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต

  • วิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม
  • อาชีวอนามัยและความปลอดภัย

หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2 ปี)

  1. คณะเภสัชศาสตร์

หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (5 ปี)

  • เภสัชศาสตร์ (ปกติ โครงการพิเศษ และ English Programme)
  1. คณะสัตวแพทยศาสตร์

หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต (6 ปี)

  • สัตวแพทยศาสตร์ (ปกติ และโครงการพิเศษ)

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต

– วิทยาศาสตร์การสัตวแพทย์

  1. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต

  • สารสนเทศศาสตร์
  • การจัดการการพัฒนาสังคม
  • สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
  • ภาษาอังกฤษ (ปกติ และโครงการพิเศษ)
  • ภาษาไทย
  • ภาษาฝรั่งเศส
  • ภาษาเยอรมัน
  • ภาษาอังกฤษธุรกิจ (ปกติ และโครงการพิเศษ)
  • ภาษาจีน
  • ภาษาญี่ปุ่น
  • ภาษาสเปน
  • ภาษาจีนธุรกิจ (ปกติ และโครงการพิเศษ)

หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต

–  รัฐประศาสนศาสตร์

  1. คณะเทคโนโลยี

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต

  • เทคโนโลยีชีวภาพ
  • เทคโนโลยีการอาหาร
  • เทคโนโลยีธรณี
  • เทคโนโลยีการผลิต (ปกติ และโครงการพิเศษ)
  • เทคโนโลยีพลังงาน
  • เทคโนโลยีวัสดุ
  1. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (5 ปี)

  • สถาปัตยกรรมศาสตร์ (ปกติ และโครงการพิเศษ)

–    ออกแบบอุตสาหกรรม (ปกติ และโครงการพิเศษ)

  1. คณะวิทยาการจัดการ

หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต

  • การเงิน (ปกติ และโครงการพิเศษ)
  • การจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยว (ปกติ และโครงการพิเศษ)
  • การบัญชี (ปกติ และต่อเนื่อง 3 ปี)
  • การตลาด
  • การจัดการ
  • หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต

–    เศรษฐศาสตร์

  1. คณะศิลปกรรมศาสตร์

หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต

  • จิตรกรรม
  • ประติมากรรม
  • ออกแบบนิเทศศิลป์
  • ดนตรีไทย
  • ดนตรีสากล

–    ดนตรีและการแสดงพื้นเมือง

  1. คณะนิติศาสตร์

หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต

–   นิติศาสตร์

  1. วิทยาลัยการปกครองส่วนท้องถิ่น

หลักสูตรรัฐศาสนศาสตรบัณฑิต

  • การปกครองท้องถิ่น
  • การจัดการการคลัง

หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต

  • การจัดการระบบสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม

หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต

–    การจัดการงานช่างและผังเมือง

  1. วิทยาลัยนานาชาติ

–   Bachelor of Arts Programme in Internayional Affairs

–   Bachelor of Business Administration Programme in Global Business

  1. บัณฑิตวิทยาลัย
  2. วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ (ไม่มีหลักสูครปริญญาตรี) วิทยาเขตหนองคาย

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต

  • วิทยาการคอมพิวเตอร์
  • ประมง
  • เทคโนโลยีอาหาร
  • เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  • หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
  • การจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยว
  • การเงิน
  • ธุรกิจระหว่างประเทศ
  • การบัญชี

หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต

  • เศรษฐศาสตร์

หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต

  • นิติศาสตร์

ค่าใช้จ่าย

ค่าธรรมเนียมการศึกษาภาคปกติแบ่งตามกลุ่มสาขาวิชา ดังนี้คือ ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 8,000 บาท ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 10,000 บาท และด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ 12,000 บาท ส่วนค่าธรรมเนียมการศึกษาภาคฤดูร้อน ชำระครึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมการศึกษาภาคปกติ

สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน

– สำนักวิทยบริการ หรือหอสมุดกลาง เป็นหอสมุดขนาดใหญ่ เอื้ออำนวยต่อการค้นคว้าหาความรู้ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังมีระบบห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ให้บริการด้วย

– ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัย เป็นเสมือนศูนย์รวมการใช้ชีวิตของนักศึกษาที่นี่ มีลักษณะเหมือนห้างสรรพสินค้า ชั้นล่างเป็นโรงอาหาร ใช้เป็นที่อ่านหนังสือตอนไม่มีการขายอาหาร (เย็นๆ) และที่ตึกยังมีลานบันไดใหญ่เป็นที่นัดพบของนักศึกษาที่นี่ ชั้นสามเป็นศูนย์หนังสือ มีร้านอินเทอร์เน็ตด้วย ลักษณะเป็นล็อคๆ เหมือนพลาซ่าในห้าง

– ศูนย์คอมพิวเตอร์ ทำหน้าที่ให้บริการ ด้านการเรียนการสอน ระบบบริหารงานวิจัยและเผยแพร่วิทยาการคอมพิวเตอร์สู่สังคม

– ศูนย์บริการวิชาการ ให้บริการศึกษาอบรมแก่ประชาชนทั่วไปทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในหัวข้อทั้งวิชาการและวิชาชีพ

– สนามกีฬา สระว่ายน้ำ สนามเทนนิส เนื่องจากอาณาบริเวณกว้างใหญ่ มหาวิทยาลัยจึงสามารถให้บริการนันทนาการและการกีฬาต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน พร้อมมีบริการศูนย์สุขภาพสำหรับนักศึกษาและบุคลากร

– บริการสำหรับนักศึกษาในการแนะแนวจัดหางานและบริการสำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีบริการจัดหางานสำหรับนักศึกษาชั้นปีสุดท้าย และบริการจัดหางานพิเศษระหว่างเรียน

– เนื่องจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีพื้นที่กว้างใหญ่และมีนักศึกษาตลอดจนบุคลากรจำนวนมาก จึงนับเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันภายในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ร้านค้า ที่ทำการไปรษณีย์ ธนาคาร และโรงพยาบาล

– บริการ Hotline 11993 เป็นบริการให้คำศึกษาทางโทรศัพท์ เมื่อนักศึกษามีปัญหาหรือไม่สบายใจเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ และจะปกปิดปัญหาของนักศึกษาเป็นความลับ สามารถใช้บริการได้ในวันและเวลาราชการ

– หอพักนักศึกษา หอพักภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตขอนแก่น สามารถแบ่งประเภทออกได้เป็น

  1. หอพักส่วนกลาง มีจำนวนมากถึง 26 หอพัก โดยแบ่งออกเป็นหอพักนักศึกษาชาย 11 หอพัก รับนักศึกษาได้ 1,786 คน และหอพักนักศึกษาหญิง 15 หลัง รับนักศึกษาได้ 2,952 คน ส่วนอัตราค่าธรรมเนียมหอพัก (รวมค่าห้องพัก ค่าน้ำ และค่าไฟ) อยู่ที่คนละ 1,400-3,000 บาทต่อภาคการศึกษา
  2. หอพัก 9 หลัง แบ่งเป็นหอพักชาย 4 หลัง รับนักศึกษาได้ 856 คน และหอพักหญิง 5 หลัง รับนักศึกษาได้ 1,070 คน อัตราค่าธรรมเนียมหอพักอยู่ที่ประมาณคนละ 3,150-4,725 บาทต่อภาคการศึกษา
  3. หอพักสวัสดิการนักศึกษา เคเคยูวรเรสซิเดนซ์ ประกอบด้วยอาคารพักอาศัย 4 ชั้น จำนวน 8 หลัง มีห้องพัดลม ห้องแอร์ธรรมดา และห้องแอร์พิเศษ สามารถรองรับนักศึกษาได้ประมาณ 2,000 คน พักได้ห้องละไม่เกิน 2 คน อัตราค่าธรรมเนียมหอพักอยู่ที่ประมาณเดือนละ 2,400-4,800 บาทต่อห้อง

ส่วนที่วิทยาเขตหนองคายมีหอพักนักศึกษา 3 แห่ง คือ

  1. หอพักนักศึกษาหญิง อาคารเรียนรวม (อคร.) มีจำนวน 90 ห้อง รับนักศึกษาได้ 540 คน
  2. หอพักนักศึกษาหญิง 2 มีจำนวน 100 ห้อง รับนักศึกษาได้ 200 คน
  3. หอพักนักศึกษาชาย 1 มีจำนวน 100 ห้อง รับนักศึกษาได้ 200 คน

อัตราค่าธรรมเนียมหอพักอยู่ที่ประมาณคนละ 2,200-3,000 บาท

ทุนการศึกษา

มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดสรรเงินทุนสำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เช่น เงินช่วยเหลือค่าอาหารกลางวัน ทุนการศึกษาทั้งจากภายในและภาคนอกสถาบัน รวมถึงทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาและเงินยืมฉุกเฉิน (โทร. 1995)

ชีวิตนักศึกษา

บรรยากาศของมหาวิทยาลัยตอนเย็นๆ คนค่อนข้างเยอะจนบางครั้งอาจดูพลุกพล่าน เพราะมหาวิทยาลัยเปิดให้คนเข้าออกตลอด แต่มีป้อมยามและป้อมตำรวจคอยดูแลอยู่ นักศึกษา ม.ขอนแก่น นิยมใช้มอเตอร์ไซค์และจักรยานในบริเวณมหาวิทยาลัย เพราะมีพื้นที่กว้างขวาง

นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นส่วนมากมาจากภาคอีสาน และภาคเหนือ แต่ที่มาจากภาคกลางก็มีจำนวนไม่น้อย สังคมที่นี่จะรู้จักกันข้ามคณะ มีเพื่อนเป็นกลุ่มใหญ่ประมาณ 10-20 คนต่อกลุ่ม เป็นเพราะนักศึกษาต้องทำกิจกรรมร่วมกันหลากหลาย ทำให้รู้จักกันมากขึ้น

ที่นี่มีงานประเพณีรับน้องใหม่เป็นประจำทุกปี มีกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ โดยแบ่งน้องใหม่ออกเป็นกลุ่มๆ เน้นความสามัคคีในหมู่น้องใหม่ กิจกรรมกลุ่มจะมีต่อเนื่อง 2-3 วัน และหลังจากนั้นจะเป็นพิธีประเพณีอื่นๆ เช่น การพาน้องใหม่ไหว้เจ้าพ่อมอดินแดง และการบายศรีสู่ขวัญน้องใหม่ งานเด่นอีกงานของสถาบันก็คือ งานลอยกระทงบึงสีฐาน มีการจัดแห่ขบวนรถของแต่ละคณะและหน่วยงาน ซึ่งเส้นทางที่ใช้ในการแห่ขบวนรถได้แก่ ถ.มะลิวัลย์ โดยเริ่มจากศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เข้าสู่ประตูมหาวิทยาลัยด้านบึงสีฐาน ภายในงานมีร้านค้าและการละเล่นมากมาย โดยประกอบด้วยซุ้มของแต่ละคณะและสาขาต่างๆ นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดประกวดนางนพมาศ และวงดนตรีอีกด้วย

Scroll to Top