สำนักข่าว : Easy Branches
URL : https://www.thainews.easybranches.com/trend/1805190
วันที่เผยแพร่ : 19 ก.พ. 2564
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิยาลัยขอนแก่น กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดการประชุมโครงการบริการวิชาการการอบรมเพิ่มศักยภาพบุคลากรในช่วงสถานการณ์โควิด–19 จังหวัดขอนแก่น ว่า ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งในฐานะตัวแทนมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เป็นส่วนหนึ่ง ทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีส่วนช่วยเหลือ ฟื้นฟู และกระตุ้นเศรษฐกิจภาคธุรกิจในจังหวัดขอนแก่นในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัดขอนแก่นเป็นอย่างมาก โดยบทบาทของมหาวิทยาลัยขอนแก่นภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวในการช่วยเหลือสังคม โดย ท่าน ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีดำริถึงการช่วยเหลือชุมชนในสถานการณ์การระบาดโควิด–19 โดยการให้คณะ หน่วยงานต่างๆ ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านการใช้งบประมาณจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม เพื่อประคับประคองช่วยเหลือผู้ประกอบการอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ได้ ให้การบริการแก่ชุมชนในช่วงสถานการณ์การระบาดโควิด – 19 เช่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์เป็นหน่วยคัดกรองผู้ป่วยและให้บริการด่านหน้า มีมาตรการสำหรับการดูแลนักศึกษา อาทิ การจัดสรรเงินทุนการศึกษา การสนับสนุนการเรียนออนไลน์ เพิ่มอัตราการจ้างงาน เปิดโอกาสผ่อนชำระค่าธรรมเนียม เป็นต้น ด้านการรักษาพยาบาลในสถานการณ์นี้ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ได้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการติดตามผลการรักษา เช่น Tele health การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในด้านการแพทย์ผ่านระบบโทรคมนาคม โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัล และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมาใช้ในการดูแลสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากโรงพยาบาลหรือสถานรักษาพยาบาลต่าง ๆ เพื่อเป็นการติดตามผลการรักษาอีกวิธีหนึ่ง โดยสามารถติดตามผลและทำการรักษาที่บ้านได้ โดยเฉพาะประชาชนที่งดการเดินทางในช่วงโรคระบาด
ศ.ดร. กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การอบรมเพิ่มศักยภาพบุคลากรในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด–19 จังหวัดขอนแก่น คณะเศรษฐศาสตร์ได้เข้ามาช่วยเหลือกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับโรงแรมในจังหวัดขอนแก่นและยกระดับความสามารถของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและโรงแรมจำนวนทั้งสิ้นรวม 15 แห่ง มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล็งเห็นความสำคัญของผลกระทบโควิด ที่มีต่อผู้ประกอบการซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือการท่องเที่ยวและโรงแรม คณะเศรษฐศาสตร์จึงได้ตอบสนองนโยบายมหาวิทยาลัย โดยการจัดงานนี้ขึ้นมา เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการโรงแรม
นอกจากนี้ ศ.ดร.กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม ยังได้แสดงความคิดเห็นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ว่า ในการระบาดของโควิด 19 ในรอบที่ 1 จะเห็นได้ว่าประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาทางด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจมากนัก ภาคธุรกิจให้พนักงานหยุดทำงานชั่วคราวและกลับมาบ้านรอวันที่สถานการณ์จะคลี่คลาย หลักจากที่มีการคลายล็อคดาวน์บรรยากาศการใช้จ่ายของผู้คน การท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้น แต่พอมาระลอกใหม่ ทำให้หลายธุรกิจไปไม่ไหว โดยเฉพาะธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ตั้งแต่ผู้ประกอบการ TAXI ร้านอาหาร ที่พักโรงแรม สถานที่จัดประชุมสัมมนา เดือดร้อนกันหนักมาก หากสถานการณ์สั้น เราได้วัคซีนเร็วก็จะเสียหายไม่มากในช่วงเดือนสองเดือนนี้ แต่ถ้าลากยาวอาจส่งผลกระทบในภาพกว้างทั้งการจ้างงานและการประกอบกิจการธุรกิจต่างๆ อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างจากสถานการณ์โควิด–19 นอกจากจะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลแล้ว หลายท่านก็ทำอาชีพเสริม เช่นไปขับรถส่งอาหาร ส่งของ ขายอาหาร ขายของออนไลน์ เป็นต้น ดังนั้นในสถานการณ์แบบนี้ทุกคนต้องช่วยกัน เพื่อให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤติโควิด–19 ที่ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสุขภาพของคนเท่านั้น ยังส่งผลต่อภาพรวมของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกด้วย
ด้าน นายเข็มชาติ สมใจวงศ์ ประธานกิตติศักดิ์หอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด– 19 ที่มีผลต่อสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่นว่า ในฐานะของหอการค้าของจังหวัดขอนแก่น และผู้ประกอบการโรงแรม ห้องประชุมสัมมนา ผลกระทบจากการระบาดของโควิด–19ครั้งนี้ก็ถือว่าหนักกว่าครั้งที่แล้วมาก การสนับสนุนการช่วยเหลือจากรัฐบาลเปรียบเทียบกับครั้งที่แล้วถือว่าน้อย จังหวัดขอนแก่นเองเป็นเมืองบริการทั้งเรื่องรถรับจ้างสาธารณะ ห้องประชุมสัมมนา TAXI โรงแรม ถือว่าได้รับผลกระทบหนักมาก อย่างสถานประกอบการหลายแห่งตอนนี้ลดเวลาการทำงานลงเหลือ 50 % คือใน 1 เดือน ให้พนักงานทำงานเหลือ 15 วัน และผู้ประกอบการก็สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนลงครึ่งหนึ่ง พนักงานสามารถไปหารายได้เสริม เช่น จากการขับรถมอเตอร์ไซด์วิ่งส่งอาหาร หรือ รับจ้างในงานก่อสร้าง เป็นต้น ในการจัดโครงการครั้งนี้ ต้องขอบคุณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ออกมาช่วยในเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณ กระตุ้นเศรษฐกิจ ในเรื่องการประชุมสัมมนา ซึ่งจะส่งผลดีในฐานะการประกอบการและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น พนักงาน คนที่ผลิตวัตถุดิบอาหารต่างๆ แต่ถ้าเกิดไม่ได้รับการช่วยเหลือผมคิดว่าสถานประกอบการหลายแห่ง อาจจะต้องปิดตัวลงในเดือนมีนาคม 2564 นี้ ซึ่งผมขอแนะนำสำหรับผู้ประกอบการว่าจังหวัดขอนแก่นมีความโชคดีที่มีแรงซื้อจากคนในท้องถิ่น และภาคราชการยังมีงบประมาณอยู่ แต่อยากขอเชิญชวนให้ภาคราชการหลายๆหน่วยงาน ออกมาใช้งบประมาณในด้านการจัดประชุมสัมมนา เหมือนกับมหาวิทยาลัยวิทยาลัยขอนแก่นกำลังทำอยู่ในขณะนี้ ส่วนผู้ประกอบการอย่างเราก็ทำได้เพียงแค่การประหยัดต้นทุนในหลายๆด้านเท่านั้น เช่น ลดการสูญเสีย ค่าน้ำค่าไฟ การเพิ่มการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ขณะที่พวกเรามีเวลาว่างในช่วงนี้ เราก็ต้องปรับปรุงทั้งสถานประกอบการ ทักษะการบริการ สร้างความแตกต่างซึ่งก็ขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการร่วมทำไปด้วยกัน