สำนักข่าว : bugaboo TV
URL : https://www.bugaboo.tv/watch/542777
วันที่เผยแพร่ : 19 ก.พ. 2564
ในยุคปัจจุบันเรื่องของ แมลง ที่เรามักกลัวและคิดว่า มันไม่มีประโยชน์อะไร ขณะนี้ แมลงอย่าง จิ้งหรีด กลายเป็นทางเลือกอาชีพใหม่ให้กับเกษตรกร สร้างรายได้อย่างมากมาย เพราะราคาจิ้งหรีด 1 กิโลกรัม สูงถึง 100 – 200 บาท ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อนำไปแปรรูปแบบผง ยังมีโภชนาการอย่างหลากหลาย กลายเป็นที่ต้องการในตลาดโลก
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แมลงอย่าง จิ้งหรีด กำลังเป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ที่ภาครัฐส่งเสริมการเลี้ยงเชิงพาณิชย์เพื่อรับกับเทรนด์อาหารเพื่ออนาคต สอดรับกับนโยบายของประเทศที่ทาง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ กำลังปักหมุดไทยให้เป็น ฮับแหล่งผลิตแมลงของโลก ที่สำคัญสอดคล้องกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ส่งเสริมให้คนทั่วโลกบริโภคจิ้งหรีดกันมากขึ้น
จิ้งหรีด ดีอย่างไร ทำไม ทุกภาคส่วนหันมาให้การสนับสนุน เนื่องจาก องค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้แมลงเป็น Super Food ที่มีสารอาหารสูง และหลายประเทศเริ่มยอมรับแมลงเป็นโปรตีนสำรอง ด้วยจุดเด่นสำคัญคือการเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพที่ปลดปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมน้อยกว่าโปรตีนที่มาจากปศุสัตว์ ปัจจุบันความต้องการโปรตีนจากแมลงทั่วโลกที่ถูกประเมินไว้ว่าจะสูงถึง 400 ล้านตัน/ปี
ฉะนั้นจึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า จิ้งหรีด เป็นหนึ่งแมลงที่มีโปรตีนสูงและอยู่กับวิถีชาวบ้านมาตั้งแต่เดิมการส่งเสริมให้เลี้ยงเป็นอาชีพเสริมให้กับเกษตรกรถือเป้นการเสริมรายได้ที่ดี ซึ่งตลาดของจิ้งหรีดรวมทั้งแมลงต่างๆนั้น ไม่เพียงแต่ในประเทศเพราะมีตลาดบริโภคแมลงที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในเอเชีย (ญี่ปุ่น จีนและอาเซียน) ซึ่งนิยมบริโภคแมลงที่ยังไม่แปรรูป (เป็นตัว)
ราคาจิ้งหรีดในปัจจุบัน ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จิ้งหรีดสด ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 100-200 บาท/กิโลกรัม หากมีการแปรรูปไปสู่รูปแบบผงโปรตีน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แมลงขั้นสูง ราคาจะพุ่งไปอยู่ที่ระดับ 1,000-1,800 บาท/กิโลกรัม สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่า 10 เท่า ดังนั้นแล้ว โอกาสที่ดีที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับจิ้งหรีดสด คือ การยกระดับเป็นผงโปรตีน โดยตลาดที่สำคัญคือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและตะวันออกกลาง กลุ่มนี้นิยมบริโภคแมลงที่แปรรูปแล้ว เช่น ผง/แป้ง อาหารสำเร็จรูปจากโปรตีนแมลง
จากปัจจัยดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้ง “ศูนย์เทคโนโลยีแมลง” ภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC:Agritech and Innovation Center) โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กับอีกอย่างน้อย 4 มหาวิทยาลัยได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ กระบวนการผลิต การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งแบบสด แช่แข็ง ทอด คั่ว หรือบรรจุกระป๋อง รวมถึงทำเป็นผงบด เพื่อเป็นส่วนผสมในการทำเบเกอรี่ และแปรรูปเป็นแป้งจำพวกเส้นพาสต้า โปรตีนบาร์ ผงแป้ง ขนมขบเคี้ยว และ protein shakes
อีกหนึ่งข่าวดีกับจิ้งหรีดไทย หลังจาก สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)และกรมปศุสัตว์ ได้ผนึกกำลังเปิดตลาดจิ้งหรีดเม็กซิโก ความคืบหน้าล่าสุด เม็กซิโกได้ประกาศอนุญาตการนำเข้าผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดจากประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยได้ประกาศข้อกำหนดด้านสุขอนามัยสัตว์ (Zoosanitary Requirement Sheet หรือ HRZ) สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผงแป้งจิ้งหรีดสายพันธุ์สะดิ้งจากประเทศไทยบนเว็บไซต์ทางการของ SENASICA
จากโอกาสข้างต้น น่าสนใจไม่น้อยว่า จากนี้ หากเกษตรกรหันมาเสริมรายได้ด้วยการเลี้ยงจิ้งหรีด ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงจะต้องร่วมกันขยายผลจิ้งหรีดผ่านการแปรรูปให้เป็นผงโปรตีน น่าติดตามอย่างน่าตื่นเต้นต่อไปว่า จากแมลงที่ขายริมทางจะกลายเป็นสินค้าที่มีราคาสูงเพราะเป็นความต้องการของตลาดโลก ที่สำคัญยังสอดรับกับแนวคิด BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน