เมื่อวันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยคณะบุคลากรกองสื่อสาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมต้อนรับ คณะศึกษาดูงานด้านสื่อสารองค์กร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม จำนวน 20 คน นำโดย นางสาววรรณวชิรา จันทะเมธี หัวหน้างานสื่อสารองค์กร กองกลาง มหาวิทยาลัยนครพนม ณ ห้องประชุมสารสิน อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กิจกรรมเริ่มจาก อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับคณะศึกษาดูงานฯ ต่อจากนั้น นายชุมพร พารา รักษาการแทนผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น บรรยายกระบวนการและขั้นตอนการบริหารงานด้านการกองสื่อสารองค์กร นางสาววัลยา ภูงาม รักษาการตำแหน่งหัวหน้างานกิจกรรม บรรยายงานด้านกิจกรรม นางเบญจมาภรณ์ มามุข รักษาการตำแหน่งหัวหน้างานสื่อสาร บรรยายรายละเอียดการบริหารงานสื่อสาร ภายหลังการบรรยายการดำเนินงานด้านการสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่นในช่วงเช้า ในภาคบ่ายเป็นการศึกษาดูงานการบริหารจัดการสถานีวิทยุกระจายเสียง มหาวิทยาลัยขอนแก่น (F.M.103 Mhz.) ในประเด็นของโครงสร้างการบริหารงาน การวางผังการจัดรายการวิทยุประจำสถานี รวมถึงเทคนิคในการจัดรายการให้มีความน่าสนใจ
อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่คณะศึกษาดูงาน มหาวิทยาลัยนครพนมให้เกียรติเข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาดูงานของกองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
“ปัจจุบันกองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน โดยมุ่งเน้นการสื่อสารกับภายนอกเพิ่มขึ้น ทั้งความหลากหลายของภาษาและรูปแบบที่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายภายนอกมากที่สุด ซึ่งการศึกษาดูงานจะทำให้ทางมหาวิทยาลัยนครพนมและมหาวิทยาลัยขอนแก่นสามารถแลกเปลี่ยนและเรียนรู้กันได้มากขึ้น” ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ กล่าว
นายชุมพร พารา รักษาการแทนผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวถึงการดำเนินงาน และ การบริหารงานของกองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า กองสื่อสารองค์กรทำหน้าที่ในการสื่อสารไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกขององค์กร เพื่อตอบสนองต่อนโยบาย ยุทธศาสตร์ และขับเคลื่อนองค์กรตามอัตลักษณ์ของการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการอุทิศเพื่อสังคม อีกทั้งสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจ จากองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัย เพื่อเผยแพร่สู่สังคม จนก่อให้เกิดความไว้วางใจ เชื่อใจ ความศรัทธา นำมาซึ่งภาพลักษณ์ที่ดีต่อมหาวิทยาลัยขอนแก่น
“กองสื่อสารมีหน้าที่ในการสื่อสารทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติและพฤติกรรม จนนำไปสู่การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย ในปัจจุบันกองสื่อสารมุ่งเน้นนำเสนอภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้ค่านิยมรูปแบบ SMILE ได้แก่ S – Social Devotion and Environment Conservation การสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในบทบาทการอุทิศตนเพื่อสังคม M – Management by Factual Information การสื่อสารบริหารงานด้วยข้อมูลจริงเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความถูกต้องชัดเจน I – Innovation Focus มุ่งเน้นการเผยแพร่การพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัยของมหาวิทยาลัย L –Life Long Learning and Work-Life Balance การสนับสนุนการสื่อสารจนก่อให้เกิดแนวทางการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การเรียนรู้ตลอดชีวิต E – Excellence Service for All Customer การให้บริการงานสื่อสารชั้นนำให้กับบุคคลภายในและภายนอก เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นเลิศ ฉะนั้นการดำเนินงานของกองสื่อสารองค์กรนั้นจึงเริ่มตั้งแต่การเผยแพร่ข้อมูล กระบวนการการประชาสัมพันธ์ทุกด้านของมหาวิทยาลัยขอนแก่นตั้งแต่ต้นจนจบ ถือเป็นการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และมีผลต่อการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยทั้งหมด” รักษาการแทนผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร กล่าว
นางสาววรรณวชิรา จันทะเมธี หัวหน้างานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยนครพนม เปิดเผยเกี่ยวกับการมาศึกษาดูงานครั้งนี้ว่า ปัจจุบันการสื่อสารของมหาวิทยาลัยนครพนมมุ่งเน้นในประเด็นหลัก 2 ประเด็น คือ ภาพลักษณ์ขององค์กร และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์กร ซึ่งทางมหาวิทยาลัยนครพนมได้มีการนำสื่อวิทยุกลับมาอีกครั้ง จึงมีความตั้งใจที่จะมาศึกษากระบวนการทำงานของสื่อวิทยุ ในเรื่องการวางรายการ และแนวทางการบริหารจัดการรายการวิทยุ
“สิ่งที่มหาวิทยาลัยนครพนมได้เรียนรู้จากการศึกษาดูงานครั้งนี้ คือ กระบวนการทำงานเชิงรุกเพิ่มมากขึ้น เพราะทางมหาวิทยาลัยเน้นในเรื่องของเชิงรับเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การสื่อสารอาจจะยังครอบคลุมได้ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นถือเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องสร้างเข้มแข็งในกระบวนการทำงาน โดยทางมหาวิทยาลัยนครพนมจะนำวิธีในการสร้างชุมชนสัมพันธ์และกิจกรรมการสร้างเครือข่ายกับสังคมไปปรับใช้กับองค์กรสื่อสารต่อไป” หัวหน้างานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยนครพนม กล่าว
ทั้งนี้ การศึกษาดูงานการพัฒนาทักษะและเครือข่ายงานสื่อสารองค์ในยุคดิจิทัล ถือเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยนครพนม เพื่อร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารองค์กรของสถานศึกษา ความเข้มแข็งให้กับองค์กร และยังเป็นการขยายเครือข่าย พัฒนา ให้องค์กรมีประสิทธิภาพในการบริหารงานที่ดีในอนาคต
ข่าว : นางสาวกมลชนก จันทะโชติ นักศึกษาฝึกฝนประสบการณ์กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ภาพ : ณัฐวุฒิ จารุวงศ์