สำนักข่าว: esanbiz
URL: https://www.esanbiz.com/37820
วันที่เผยแพร่: 29 ม.ค. 2564
วันที่ 29 มกราคม 2564 ณ ห้องประชุมกาลพฤกษ์7 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายศรัทธา คชพลายุกต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธาน การประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจิ้งหรีดเชิงพาณิชย์เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ในการนี้มี หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง คณาจารย์ นักวิจัย จากสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(สยปพ.) มหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าร่วมด้วย
นายศรัทธา รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจิ้งหรีดเชิงพาณิชย์เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร เป็นส่วนหนึ่งในโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านปศุสัตว์ในจังหวัดขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางการสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดอย่างเป็นระบบ เสริมสร้างและเพิ่มทักษะ องค์ความรู้ ในการเลี้ยงจิ้งหรีดคุณภาพเชิงพาณิชย์ และ ยกระดับการเลี้ยงจิ้งหรีดสู่อาชีพหลักของเกษตรกรอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านปศุสัตว์ในจังหวัดขอนแก่น ที่ดำเนินโครงการด้านการ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจิ้งหรีดเชิงพาณิชย์เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร มีสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้ดูแลโครงการ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2564 มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกร 300 ครัวเรือน ในพื้นที่ 26 อำเภอของจังหวัดขอนแก่น โดยได้วางเป้าหมายให้มีฟาร์มผลิตจิ้งหรีดคุณภาพเชิงพาณิชย์ เพื่อบริโภคในประเทศและส่งออก ไม่น้อยกว่า300 ฟาร์ม มีฟาร์มผลิตจิ้งหรีดที่ผ่านการรับรองมาตรฐานฟาร์ม ไม่น้อยกว่า 150 ฟาร์ม และ มีกลุ่มและเครือข่ายผู้เลี้ยงจิ้งหรีดที่มีความเข้มแข็ง และยั่งยืน และพัฒนาสู่อาชีพหลัก ไม่น้อยกว่า 10 กลุ่ม
จ.ขอนแก่นเรา มีโครงการ คู่เสี่ยว เกี่ยวก้อย แก้จน คนขอนแก่น ขับเคลื่อนข้าราชการทั้งจังหวัด จับคู่เสี่ยวครัวเรือนยากจน ตั้งแต่ปี 2562 ให้การสนับสนุนช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาความยากจนของครัวเรือน 1,174 ครัวเรือน ด้วยการสังเคราะห์ การฝึกฝน พัฒนาอาชีพ จัดหาแหล่งจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรของครัวเรือนยากจน ผมอยากให้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจิ้งหรีดเชิงพาณิชย์ฯบูรณาการโครงการ คู่เสี่ยว เกี่ยวก้อย แก้จน คนขอนแก่น เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผอ.สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ม.ขอนแก่น กล่าวว่า ได้ชูจิ้งหรีดเป็น 1 ใน 6 สัตว์เศรษฐกิจที่จังหวัดขอนแก่นส่งเสริม และจะให้บ้านแสนตอเป็นหมู่บ้านดูงานจิ้งหรีด อาหารแห่งอนาคต ระดับจังหวัด อีกทั้งจะหางบประมาณพัฒนาบ้านแสนตอเป็นเอ้าท์เล็ทจิ้งหรีดของจังหวัดด้วย ทั้งนี้ บ้านแสนตอ เป็นหนึ่งในหมู่บ้านเป้าหมายของโครงการการพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ที่สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ฝ่ายเกษตร และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดมีความสามารถในการผลิตจิ้งหรีดให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย ตลอดจนการรวมกลุ่มเป็นผู้ประกอบการ และมีรายได้เพิ่มจากการเลี้ยงจิ้งหรีด
สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดทำโครงการพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานปลอดภัย ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ฝ่ายเกษตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2562-2564 โดยใช้พื้นที่บ้านแสนตอ ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และบ้านฮ่องฮี ตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นพื้นที่โครงการ
ขณะนี้มีเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ การผลิตจิ้งหรีดเชิงพาณิชย์แบบครบวงจร จำนววน 349 ราย และเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมยกระดับสู่มาตรฐาน GAP จำนวน 176 ราย การจัดการประชุมวิชาการในวันนี้จึงมุ่งเน้นที่ด้านการตลาดเพื่อแสวงหากลไกในการขับเคลื่อนให้ครบห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงกลางน้ำ โดยมีตลาดและผู้บริโภคเป็นเป้าหมายสำคัญ รศ.รังสรรค์ กล่าว