สำนักข่าว: ขอนแก่นลิงก์
URL: https://khonkaenlink.info/home/news/12127.html
วันที่เผยแพร่: 2ึ8 ม.ค. 2564
รศ.รังสรรค์เนียมสนิท ผอ.สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สยปพ.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระดมนักวิชาการร่วมกันขับเคลื่อนแมลง, innovation, novel food ผลักดันเป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกของ ม.ขอนแก่น
วันที่ 28 มกราคม 2564 รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ สยปพ. จัดกิจกรรมระดมนักวิชาการหลากหลายสาขาประกอบด้วย ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง ผศ.ดร.เกษม นันทชัย อ.วีระ ภาคอุทัย รศ.ดร.ปณิธาน พีระพัฒนา ผศ.ดร.พรณรงค์ ชาญนุวงศ์ ผศ.ดร.สมสมร แก้วบริสุทธิ์ ผศ.ดร.นยทัศ ตันมิตร และดร.พลสัณห์ มหาขันธ์ ร่วมหารือกำหนดทิศทางขับเคลื่อน แมลง, innovation, novel food เห็นร่วมกันให้เร่งดำเนินการรวบรวมนักวิจัยและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่มีแนวคิดร่วมกันขับเคลื่อนงานวิจัยวิชาการ พัฒนา และนวัตกรรม ตามแนวโน้มอาหารใหม่ (Novel Food) กำหนดประเด็นขับเคลื่อนในระยะแรกคือแมลง ซึ่งแมลงนั้นไม่ใช่อาหารใหม่ แต่เป็นอาหารที่ถูกลืมของโลก ประเทศไทยมีศักยภาพในเรื่องของแมลงที่มีความหลากหลาย มีวัฒนธรรมการกินแมลง เป็นแหล่งผลิตอาหารโลก เพราะแมลงไม่ใช่เป็นเพียงอาหารคน หรือสัตว์ แต่แมลงยังเป็นยารักษาโลก ม.ขอนแก่น มีทุนเดิมทั้งผลงานวิชาการ การศึกษาวิจัยเรื่องแมลงในมิติต่าง ๆ เป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะ ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง ที่ศึกษาเรื่องแมลงหลายชนิด รวมถึงจิ้งหรีด แหล่งโปรตีนใหม่ของโลก และล่าสุดได้ประชุมร่วมกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) แถลงข่าวหนังสือคู่มือการทำฟาร์มจิ้งหรีดให้แบบยั่งยืนและมีมาตรฐาน เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 แล้วมีจำนวนคนสืบค้นอ้างอิงเรื่องดังกล่าวถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่นในจำนวนลำดับต้น ๆ ของการสืบค้นทั้งโลก และอีกหลายประเด็นที่ ม.ขอนแก่น เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานที่เกี่ยวข้องกับแมลงแหล่งโปรตีนใหม่ของโลก ด้วยเหตุผลดังกล่าวคณะผู้เข้าร่วมประชุมจึงร่วมกันที่จะเสนอแนวคิดและแนวทางการขับเคลื่อน แมลง, innovation, novel food เป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกให้ ม.ขอนแก่น ขับเคลื่อนโดยทีมนักวิชาการที่มีความสนใจร่วมกันผลักดันให้เกิดผล
รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผอ.สยปพ.กล่าวว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างกรอบแนวคิด แนวทางดำเนินงาน เพื่อเสนอ ม.ขอนแก่น และยังเปิดรับความคิดเห็นจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้นำเชิงนโยบาย ที่มีใจและมีความต้องการเข้าร่วมขับเคลื่อนให้เกิดผลต่อไป