นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของประชาคมมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมไปถึงคนไทยทั้งประเทศที่ผลงาน Maker Greenovation Platform จากอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ติด 1 ใน 10 ของผลงานที่ดีที่สุด จากผลงานเข้าประกวดกว่า 200 ผลงานทั่วโลก ที่แข่งขันในโครงการ Inspiring Solutions Programme จากงานประชุม The Virtual IASP World Conference 2020 ครั้งที่ 37 ณ ประเทศสเปน โดย สมาคมอุทยานวิทยาศาสตร์และเขตนวัตกรรมนานาชาติ หรือ IASP (International Association of Science Parks and Areas of Innovation) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 3 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนั้นมีองค์กรสมาชิกเข้าร่วมการประชุมกว่า 350 องค์กร จาก 76 ประเทศทั่วโลก
ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะหัวเรือใหญ่ ของผลงาน Maker Greenovation Platform เปิดเผยเส้นทางความความสำเร็จของคนไทยในเวทีโลก ว่า การได้รับรางวัล IASP เกิดจากความพยายาม และการวางแผนการทำงานเพื่อพิชิตเป้าหมายการปักหมุด อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในเวทีโลก ก่อนหน้านี้ถึง 2 ปี
“สมาคมอุทยานวิทยาศาสตร์และเขตนวัตกรรมนานาชาติ หรือ IASP เป็นองค์การระดับโลกที่เกิดจากความร่วมมือขององค์กรหน่วยงาน Science Park ทั่วโลก ที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อน และ พัฒนานวัตกรรม ซึ่งแต่ละประเทศจะมีหน่วยงาน Science Park อยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างดี มีรายได้ GDP สูง ในประเทศไทย ณ ปัจจุบันมี Science Park อยู่ทั้งหมด 16 แห่งทั่วประเทศ มีเพียง 3 Science Park ที่เป็นสมาชิก (IASP) คือ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สมาชิกประเภทภาคีเครือข่าย) โดย อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกปี 2020 เป็นปีแรก ซึ่งการจะเข้าเป็นสมาชิกของ Science Park ต้องมีมาตรฐานสูง ไม่ได้เพียงแค่ส่งใบสมัครและยื่นผลงานก็จะได้รับการยอมรับในทันที แต่จะต้องมีกระบวนการในการตรวจสอบที่ละเอียดตั้งแต่การบริหารจัดการองค์กร พนักงานในองค์กรที่มีศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจฐานนวัตกรรม กลไกหรือกิจกรรมที่สร้างสรรค์ระบบนิเวศนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ขั้นสูงที่ให้บริการเอกชน อาคารและพื้นที่สำหรับทำวิจัย ที่ใช้เกณฑ์วัดว่ามีคุณภาพได้มาตรฐานสากลหรือไม่ รวมไปถึงการพิจารณาว่าองค์กรมีการทำงานร่วมกับ Science Park อื่น ๆ หรือไม่”
“ในปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ทำทุกอย่างให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมไปถึงได้ทำงานร่วมกันกับ Science Park ต่างประเทศมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ การทำงานร่วมกันในระดับ International เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ เป็นองค์ประกอบในภาพรวมที่เป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความพร้อมในการเข้าเป็นสมาชิกของ Science Park หรือไม่ ฉะนั้นการที่ Science Park มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เป็นสมาชิกของสมาคม IASP จึงถือได้ว่ามหาวิทยาลัยฯมี Science Park ที่สมบูรณ์แบบ และเป็นที่ยอมรับขององค์กรโลก ซึ่งเราได้ทำต่อเนื่องมากว่า 4 ปี ” ผู้อำนวยการ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
สำหรับสมาคม IASP จะมีการจัดประกวดทุก ๆ ปี เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ที่ก่อให้เกิดนวัตกรรม ในทุก ๆ ปีสมาคม IASP จะมีการเปลี่ยนแปลงหัวข้อในการประกวดให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก ในปี 2020 IASP จัดการประกวดภายใต้โครงการ Inspiring Solutions Programme เพื่อเฟ้นหาแนวคิด หรือ ผลงานที่ช่วยแก้ปัญหาหรือพัฒนาประชาคมโลก ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น น้องใหม่ที่เพิ่งได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกปีแรก ได้ส่งผลงาน “Maker Greenovation” ที่มีแนวคิดและกลไกในการสร้างผู้ประกอบการ ที่สร้างนวัตกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมเป้าหมายเพื่อความยั่งยืน ร่วมชิงชัยไปพร้อม ๆ กับการชิมลาง
ผลปรากฏว่าโครงการ“Maker Greenovation Platform” นี้ ไม่เพียงสร้างประวัติศาสตร์หน้าแรก ของอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะผลงานปฐมฤกษ์ที่ถูกส่งประกวด แต่ยังสร้างประวัติศาสตร์หน้าแรกของประเทศไทยที่ได้เป็น 1 ใน 10 หน่วยงานที่มีผลงานเชิงประจักษ์ที่ดีที่สุดของโลก ในปี 2020 โดยมี 8 ประเทศ ยักษ์ใหญ่ อย่าง สหรัฐอเมริกา จีน ปากีสถาน รัสเซีย อิตาลี สเปน สวีเดน และบราซิล ครองตำแหน่งในรอบเดียวกัน
กุญแจสำคัญที่ทำให้ Maker Greenovation Platform ประสบความสำคัญในเวทีใหญ่ครั้งนี้ มาจากแนวคิด ที่ต้องการสร้างคนเพื่อให้คนไปสร้างนวัตกรรมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ทุก ๆ Science Park ทั่วโลก สามารถนำไปใช้ได้
ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยแนวคิดที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมนี้ขึ้นมาว่า ในปัจจุบันทิศทางของโลกนั้นพยายามสร้างคน เพื่อให้คนไปสร้างธุรกิจให้เกิดรายได้ แต่เรากลับลืมนึกไปว่า ธุรกิจ หรือ นวัตกรรมที่เราสร้างส่วนใหญ่ส่งผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อมมากพอสมควร ฉะนั้นถ้าสามารถสร้างธุรกิจควบคู่ไปกับการช่วยเหลือดูแลสิ่งแวดล้อมได้ ก็จะเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ เศรษฐกิจจะดีขึ้น และทำให้เกิดความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น Maker Greenovation Platform จึงเป็นนวัตกรรมกลไกในการพัฒนาคน 3 ช่วงวัย ได้แก่ 1 กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มคนรุ่นใหม่ และ กลุ่มสูงวัย นำมาสู่โครงการย่อย ๆ หลากหลายโครงการ มีกิจกรรมและเนื้อหาแตกต่างกันตามความต้องการของแต่ละช่วงวัย เพราะว่า แต่ละช่วงวัยมีองค์ความรู้ และ ทักษะการดำรงชีวิตนั้นไม่เหมือนกัน ฉะนั้นความต้องการในการรับรู้ข้อมูล กลไกของการทำงานจึงไม่เหมือนกัน ”ผู้อำนวยการ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
Maker Greenovation Platform มีกลไกในการพัฒนาบุคคล 3 กลุ่ม โดยมีรายละเอียดดังนี้
กลุ่มที่ 1 เด็กและเยาวชน โดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อนำมาสร้างห้อง Maker Space ผ่านโครงการ KKU Maker Space มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสร้างให้เด็กและเยาวชนได้มาทดลองสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โดยมีผู้เชียวชาญเฉพาะทางดูแล คอยแนะนำ และ ให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นการปลูกฝังและสร้างคุณค่าอีกด้านหนึ่งให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อให้พวกเขาเกิดวิธีคิดและนำไปต่อยอดในอนาคต นอกจากนี้ยังมีโครงการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 22 : NSC2020 (ระดับภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
กลุ่มที่ 2 คนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มที่เรียนจบไปแล้ว หรือ กำลังจะจบแล้วอยากสร้างธุรกิจ การทำกิจกรรมสำหรับกลุ่มนี้จะเน้นการปลูกฝังองค์ความรู้ทางด้านธุรกิจผ่านการจัดอบรม การประกวด ไปจนถึงการระดมทุนให้กับกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ หรือ Start Up โดยจะต้องมีการให้ความรู้เรื่องของสังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่เข้าไปด้วย โดยตัวอย่างการกิจกรรมในกลุ่มนี้ เช่น กิจกรรม Pithching Prototype ธุรกิจด้านแมลง (รอบสุดท้าย) ในโครงการ Hackathon Insect
กลุ่มที่ 3 คนสูงวัย เป็นกลุ่มที่มีองค์ความรู้เดิมอยู่แล้ว ฉะนั้นโครงการจะเน้นไปที่กิจกรรมเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น งานจักสาน งานทอผ้า ผ่านการสอดแทรกองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์แลเทคโนโลยี ขณะเดียวกันช่วงวัยนี้ไม่ได้สนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากนัก ดังนั้น Science Park มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้จัดองค์ความรู้ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ให้กับกลุ่มผู้สูงวัย เช่น ให้ความรู้ในด้านการย้อมผ้าโดยใช้สีจากธรรมชาติ และ แนะนำวิธีการบำบัดน้ำเสียที่ได้จากการย้อมสีผ้า เพื่อส่งผลให้เกิดความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและลดมลพิษให้น้อยลง โดยตัวอย่างการกิจกรรมในกลุ่มนี้ เช่น กิจกรรมการนำเทคโนโลยีไปช่วยกลุ่มวิสาหกิจเกษตรวิถีอินทรีย์อ.กระนวน จ.ขอนแก่น
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังมองว่า Maker Greenovation Platform ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงสร้างความภาคภูมิใจในการสร้างชื่อในเวทีโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นการสะท้อนผลการดำเนินงานของ Science Park อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้าน Ecological มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี และนวัตกรรม ได้เป็นอย่างดี
“กว่าจะมีวันนี้ Maker Greenovation Platform มีลมใต้ปีกที่ผลักดันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การสนับสนุนจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะผู้บริหารรุ่นก่อนที่เบิกทางแห่งความสำเร็จ ทั้งรศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อดีตอธิการบดีม.ขอนแก่น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดีม.นครพนม และศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงอว. ตลอดจนมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการนำของรศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ม.ขอนแก่น และหน่วยงานเครือข่ายทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย อาทิ สำนักหอสมุด ม.ขอนแก่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ฯลฯ”
ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต่อไปว่า“นอกจากความภาคภูมิใจในการได้รับรางวัลแล้วข้อดีของการทำโครงการนี้ ทำให้ Science Park มหาวิทยาลัยขอนแก่น มองภาพไปถึงอนาคตในภายภาคหน้าว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นอยากจะแสดงศักยภาพให้โลกเห็นว่า ความคิดและความสามารถของคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก เราจะสร้างและพัฒนานวัตกรรมของเราไปสู่สายตาชาวโลกให้ได้เห็นถึงคุณภาพและศักยภาพของประเทศไทย ซึ่ง Science Park มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการวางเป้าหมายไว้ว่าในการแข่งขัน IASP ในปีหน้าที่กำลังจะมาถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะต้องติดอันดับ 1 ใน 3 ให้ได้ เพื่อเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพของคนไทยที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สร้างประโยชน์และคุณค่าให้แก่มวลมนุษยชาติต่อไป” ผู้อำนวยการ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวทิ้งท้าย
หมายเหตุ
สามารถชมรายละเอียด MAKER GREENOVATION PLATFORM ได้ที่ https://sciencepark.kku.ac.th/en/maker-all
สามารถชมตัวอย่าง โครงการ 3 ช่วงวัยได้ที่
ช่วงวัยที่ 1 โครงการ NSC https://sciencepark.kku.ac.th/blogs/detail/121
ช่วงวัยที่ 2 โครงการHackathon Insect https://sciencepark.kku.ac.th/blogs/detail/92
ช่วงวัยที่ 3 ตัวอย่างกิจกรรมการนำเทคโนโลยีไปช่วยกลุ่มวิสาหกิจเกษตรวิถีอินทรีย์อ.กระนวน
https://sciencepark.kku.ac.th/blogs/detail/99%20KKUSP
Success of KKU Science Park from its work, “Maker Greenovation Platform”, winning one out of the ten best works of the world at the IASP