มข.สัมมนาเพื่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงการศึกษา สำหรับคณบดี (Dean Forum: Education Transformation: How to implement?
สำนักบริหารและพัฒนาวิชาการได้จัดโครงการสัมมนาเพื่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงการศึกษา สำหรับคณบดี (Dean Forum: Education Transformation: How to implement?) ณ โรงแรมวิชชิ่งทรี รีสอร์ท จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริหารระดับสูงสุดของคณะและวิทยาลัยร่วมกันกำหนดวิธีหรือแนวทางการปฏิบัติ (Implement) ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงการศึกษาตามนโยบาย KKU Education transformation ให้มีความสอดคล้องกันทั้งในระดับคณะ วิทยาลัยและมหาวิทยาลัย และการแลกเปลี่ยนวิธีและแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาของแต่ละคณะและวิทยาลัย ตลอดจนหารือแนวทางในการพัฒนาความร่วมมือในการสร้างหลักสูตรหรือการจัดการศึกษาตามกระบวนทัศน์ใหม่ โดยมีคณบดีเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 21 คณะ วิทยาลัย
ประเด็นสำคัญที่นำมาหารือในกิจกรรมครั้งนี้ ประกอบด้วย การรับฟังบรรยายพิเศษผ่านออนไลน์ เรื่อง แนวคิดการพัฒนาหลักสูตรเพื่อสะท้อนกระบวนทัศน์ใหม่ด้านการจัดการการอุดมศึกษา โดย รศ.ดร.บัณฑิต ทิพากร กรรมการสภาวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเสนอมุมมองและสะท้อนภาพของการจัดการการอุดมศึกษาและพัฒนาบัณฑิตที่ต้องการในอนาคตและสถาบันการศึกษาควรพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การประเมินผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียนไปในทิศทางอย่างไร ตลอดจนการแลกเปลี่ยนและสอบถามจากที่ประชุมในหลายประเด็น จากนั้นที่ประชุมได้ร่วมหารือเพื่อร่วมกันวางเส้นทางอย่างไรในการสร้างความร่วมมือระหว่างคณะในรูปสหสาขาและการสร้างหลักสูตรที่ตอบโจทย์การพัฒนาบัณฑิตซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ การเปลี่ยนแปลงของโลก และนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลอดจนปัญหา อุปสรรค และความท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น การจัดการศึกษาตลอดชีวิตและระบบคลังหน่วยกิต เป็นต้น
และเมื่อสิ้นสุดการสัมมนาเวลาประมาณ 17.00 น. ได้นำเสนอผลการสัมมนาต่อ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ สรุปประเด็นข้อนเสนอแนะและแนวทางเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงการศึกษาที่สำคัญโดยสังเขป คือ 1) การจัดการศึกษาด้านหลักสูตร ที่ยังมีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ ที่ไม่เอื้อต่อการจัดการศึกษาตามกระบวนทัศน์ใหม่ รวมถึงการปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษาตามแนวทางการขับเคลื่อนกลไกนวัตกรรมการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) 2) การจัดการศึกษาตลอดชีวิต การศึกษาแบบไม่ได้รับปริญญา และระบบคลังหน่วยกิต 3) การส่งเสริมและพัฒนาอาจารย์สู่การเปลี่ยนแปลงตามแนวทาง Teaching to Learning Paradigm ซึ่งต้องครอบคลุมถึงระบบการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการจัดการศึกษา ระบบและกลไกเพื่อการสนับสนุนการขอตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์สายการสอน การพัฒนาระบบและแนวทางการสะท้อนผลและมีการนำผลการประเมินการสอนและการประเมินผลการปฏิบัติงานไปใช้เพื่อการพัฒนาบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการกำหนดเป็นส่วนสำคัญตามข้อตกลงการจ้าง และ 4) ประเด็นสำคัญอื่น เช่น (1) การสร้างระบบและกลไกในการออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์ด้านหลักสูตรตามกระบวนทัศน์ใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาที่มหาวิทยาลัยควรส่งมอบคุณค่าให้สังคมและบัณฑิต (2) แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนนักศึกษาให้มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ (3) การกำหนดคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก และเป้าหมายของมหาวิทยาลัย ตลอดจนแนวทางการนำไปถ่ายทอดสู่ระดับหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และการจัดกิจกรรมที่สามารถสะท้อนและวัดประเมินผลของคุณลักษณะบัณฑิตนั้นได้โดยผู้ใช้บัณฑิต เป็นต้น
การนี้ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับฟังและให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมถึงแนวทางการดำเนินการที่สำคัญที่ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เช่น การปรับปรุงหรือการออกระเบียบการศึกษาว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือระดับบัณฑิตศึกษา ว่าด้วยการศึกษาตามกระบวนทัศน์ใหม่ หรือการปรับปรุงบางหมวดจากระเบียบที่มีเพื่อให้ตอบสนองต่อการจัดการศึกษาตามกระบวนทัศน์ใหม่ เช่น การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการตกออก การวัดและประเมินผลอื่นนอกเหนือจากระบบเกรด เป็นต้น ตลอดจนมหาวิทยาลัยได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาตามกระบวนทัศน์ใหม่ไว้อย่างเหมาะสม รวมทั้งการจัดสรรอัตรากำลังที่ให้สอดคล้องกับหลักสูตรในรูปแบบใหม่นี้ ดังนั้นความท้าทายจึงอยู่ที่คณะ วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยร่วมมือกันในการผลักดันให้เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง และปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญประการหนึ่งคือ การสร้างความเข้าใจ แรงบันดาลให้อาจารย์บุคลกากรสายวิชาการตื่นตัวและเกิดการเปลี่ยนแปลงจาก Teaching to Learning Paradigm ส่วนหลักสูตรที่เข้าเงื่อนไขหลักสูตรตามกระบวนทัศน์ที่มหาวิทยาลัยเร่งผลักดันและเกิดขึ้นแล้ว เช่น หลักสูตรผู้ประกอบการดิจิทัล หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ และยังมีหลักสูตรอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น หลักสูตรยานยนต์ชีวมวล ผู้ประกอบการอาหารมืออาชีพ การขนส่งและโลจิสติกส์ ด้านการบิน รถไฟความเร็วสูง หรือหลักสูตรตามประเภทอาชีพ เช่น หลักสูตรด้านแบตเตอรี่ เป็นต้น
ในโอกาสนี้ผู้อำนวยการสำนักบริหารและพัฒนาวิชาการได้มอบของที่ระลึกในโอกาสสวัสดีปีใหม่ ปี พ.ศ. 2564 ที่จะมาถึงแก่คณบดีทุกท่านที่มาร่วมกิจกรรมในโอกาสนี้ด้วย
ข่าว : งานหลักสูตรและสหกิจศึกษา
ภาพ : งานหลักสูตรและสหกิจศึกษา/ธเนศ เงาะปก