ผอ.โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มข. เผยมาตรการรับมือ covid-19 ระบาดรอบใหม่

เมื่อวันอังคารที่ 5 มกราคม 2564 เวลา 10:30 น รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้เกียรติ มาร่วมรายการรอบรั้วมข. ทางคลื่นวิทยุ FM.103 สถานีวิทยุเพื่อชุมชนมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีนาง เบญจมาภรณ์ มามุข เป็นผู้ดำเนินรายการ

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โดยรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล ได้กล่าวในรายการว่า ” โควิด-19 ระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนครั้งแรกตั้งแต่เดือนธันวาคม ในปี 2562 นับตั้งแต่มีการติดเชื้อครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน ธรรมชาติของเชื้อไวรัสมีการปรับตัว ซึ่งปัจจุบันเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ไปแล้ว 7-8 สายพันธุ์ ตัวไวรัสได้ปรับเปลี่ยนตัวเองให้สามารถติดต่อกันได้ง่ายขึ้น และแพร่กระจายได้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งผู้ป่วยเกินครึ่งนั้นเมื่อได้รับเชื้อมาจะไม่มีอาการใด  ๆ จึงทำให้การระบาดรอบที่ 2 มีการกระจายตัวมากกว่าในรอบแรก

ปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขของผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกิดจาก 2 ปัจจัยได้แก่ 1. การติดเชื้อที่ง่ายขึ้น และ   ภาครัฐมีการตรวจคัดกรองในเชิงรุกมากขึ้น จึงทำให้จำนวนยอดผู้ติดเชื้อที่พบเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแต่ถึงแม้ว่าเปอร์เซ็นต์ในการติดเชื้อในรอบที่ 2 จะมีมากขึ้น แต่มีข้อดีที่ความรุนแรงของเชื้อนั้นยังไม่เท่ากับครั้งที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงส่วนมากเป็นปัจจัยด้านอายุ ที่ผู้สูงอายุมีภูมิคุ้มกันน้อยกว่าวัยรุ่นหรือวัยทำงาน และรวมไปถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคไตวาย โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้รุนแรงกว่าผู้ที่สุขภาพร่างกายแข็งแรง”

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล ได้กล่าวถึงมาตรการแนวทางการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่า ” มาตรการการป้องกันจะยึดตามระดับประเทศเป็นหลัก ซึ่งมาตรการการป้องกันระดับประเทศในเชิงการรักษาเปลี่ยนไปจากระยะแรกหลายประเด็น ประเด็นแรก คือ ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ติดเชื้อให้ได้น้อยที่สุดเพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสให้น้อยลง ซึ่งนโยบายระบุว่า หากพบผู้ป่วยติดเชื้อที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษาจะให้รักษาตัวที่โรงพยาบาลนั้นทันที ซึ่งในเขตจังหวัดขอนแก่นนั้นโรงพยาบาลมีศักยภาพที่หลากหลายแตกต่างกัน ดังนั้นจึงมีการประชุมเพื่อหารือนโยบายในการป้องกันร่วมกันกับโรงพยาบาลในจังหวัดขอนแก่น และนโยบายมีสาระสำคัญดังนี้

  • ในกรณีที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อที่โรงพยาบาลใดหากโรงพยาบาลนั้นมีศักยภาพไม่เพียงพอต่อการรักษาสามารถส่งผู้ป่วยไปทำการรักษาในโรงพยาบาลใหญ่ ที่มีศักยภาพเพียงพอซึ่งจังหวัดขอนแก่นมีอยู่ 3 โรงพยาบาลได้แก่ โรงพยาบาลชุมแพ โรงพยาบาลสิรินธร และโรงพยาบาลกระนวน แต่ถ้าคนไข้มีอาการหนักถึงขั้นวิกฤตที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการรักษา สามารถดำเนินการส่งคนไข้ไปรักษาได้ 2 โรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น และโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยจะแบ่งโซนในการรับผู้ป่วย ดำเนินการรักษาอย่างชัดเจน
  • จะนัดประชุมเพื่อหารือกันในทุก ๆ 1ถึง 2 สัปดาห์เพื่อสรุปและช่วยกันเสนอมาตรการรองรับสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
  • นอกจากนี้จังหวัดขอนแก่นได้วางแผนที่จะสร้างโรงพยาบาลสนาม กรณีมีคนไข้จำนวนมากและโรงพยาบาลไม่สามารถรับผู้ป่วยเข้ารักษาได้ ซึ่งจุดแรกที่วางแผนไว้สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 80 คน และ อาจจะต้องดูสถานการณ์ความเป็นไปได้ว่ามีจำนวนผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด โดยจะรวบรวมแพทย์จากโรงพยาบาลต่าง ๆ ในจังหวัดขอนแก่นเพื่อเป็นทีมส่วนกลางของจังหวัดในการช่วยกันดูแลผู้ป่วยที่เข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม

นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลศรีนครินทร์ได้ปรับแผนใหม่ในการดูแลป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแบ่งการรับมือออกเป็น 5 ระดับ ยึดตามมาตรการระดับประเทศ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 13 หน่วยงาน มั่นใจได้ว่าสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างครบถ้วน

ระดับที่ 1 เป็นระดับ พบการติดเชื้อในผู้ป่วยที่เป็นชาวต่างชาติเท่านั้น

ระดับที่ 2 มีคนไทยติดเชื้อในปริมาณน้อยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

ระดับที่ 3 เชื้อไวรัสแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจากคนในประเทศด้วยกันเองในวงกว้าง ถือว่าอยู่ในระดับที่ควบคุมได้

ระดับที่ 4 การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอย่างรวดเร็วจากคนในประเทศด้วยกันเองและพบผู้ติดเชื้อในจังหวัดขอนแก่นน้อยกว่า 10 รายถือว่ายังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้

ระดับที่ 5 การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่างรวดเร็วและพบผู้ป่วยในจังหวัดขอนแก่น มากกว่า 10 รายหรือมีผู้ป่วยติดเชื้อรับการรักษาในโรงพยาบาลศรีนครินทร์อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งในแต่ละระดับจะมีมาตรการในการดูแลและควบคุมสถานการณ์อย่างเคร่งครัด ซึ่งปัจจุบันจังหวัดขอนแก่นนั้นอยู่ในความเสี่ยงระดับที่ 4 โดยจะเน้นมาตรการในการคัดกรองที่เข้มงวด โดยจะมีการคัดกรองตามจุดต่าง ๆ ทั่วโรงพยาบาลและพยายามลดจำนวนผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องในโรงพยาบาลให้น้อยลง นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังได้รับพระราชทานเครื่องตรวจโควิด-19 จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเครื่องมือทางการแพทย์พระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 อีกหลายชุด

นอกจากนี้โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ได้แบ่งภาระหน้าที่ให้คณะแพทย์ของโรงพยาบาล เพื่อช่วยกันดูแลรักษาและให้บริการผู้ป่วยในด้านอื่น ๆ เช่น บริการส่งยาถึงบ้านเพื่อลดความเสี่ยงให้กับผู้ป่วยที่เข้ามารับยาจากโรงพยาบาลด้วยตนเอง  กรณีผู้ป่วยที่จำเป็นที่จะต้องผ่าตัดสามารถเข้ามารักษาได้ตามปกติ แต่หากในอนาคตจังหวัดขอนแก่นอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ระดับที่ 5 ทางโรงพยาบาลจะมีมาตรการในการลดจำนวนการผ่าตัดลง เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลให้ได้มากที่สุด ดังนั้นเข้าใช้บริการจึงมั่นใจได้ว่ามาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้นจะครอบคลุม กับสถานการณ์ในทุกระดับอย่างแน่นอน

ข่าว / ภาพ : นายเสกสรร นาหัวนิล นักศึกษาฝึกประสบการณ์กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Director of Srinagarind Hospital, KKU reveals the measures taken against the new round of Covid-19

https://kku.ac.th/8365

Scroll to Top