เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2553 เวลา 15.00 น. ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น FM 103 ได้รับเกียรติจากทางนายแพทย์ชาญณรงค์ ชัยอุดมสม (หมอต้น) นายแพทย์ชำนาญการแพทย์เฉพาะทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่น รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนายเสกสรร นาหัวนิล (น้องอาร์ม) นักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาเป็นแขกรับเชิญร่วมพูดคุยในรายการวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อชุมชนในประเด็นเรื่อง ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นพร้อมทั้งวิธีดูแลป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต
โดยในช่วงแรกคุณหมอต้น ได้แนะนำบทบาทหน้าที่และบริการของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่าเป็นหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เป็นสถาบันให้บริการเฉพาะด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่นที่เดียวในภาคอีสานโดยแบ่งเป็น 3 บริการหลักๆได้แก่ (1)การบริการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี (2)ด้านวิชาการ สร้างองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับงานบริการจิตเวชเด็กและวัยรุ่น (3) ให้คำปรึกษากับโรงพยาบาลเครือข่ายในสังกัดกรมสุขภาพจิต พัฒนาเครือข่ายโรงพยาบาลให้สามารถให้บริการในพื้นที่ได้
จากนั้นในช่วงที่ 2 ของรายการ น้องอาร์มได้บอกเล่าถึงการใช้ชีวิตของวัยรุ่นในปัจจุบันว่า”ในสมัยก่อนพ่อแม่จะ นิยมสอนให้ลูกหลานนั้นนอนตั้งแต่หัวค่ำและตื่นเช้า แต่ทุกวันนี้พฤติกรรมวัยรุ่นได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลาโดยวัยรุ่นในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มประเภทนอนดึกตื่นสาย เพราะสมัยนี้มีสื่อออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็น Facebook YouTube หรือรวมไปถึงแพลตฟอร์มอื่น ๆ อีกมากมายที่เข้ามามีอิทธิพลกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น จึงทำให้เกิดพฤติกรรมการนอนดึกตื่นสาย และด้วยความที่เป็นสื่อสมัยใหม่ ทำให้วัยรุ่นมีความสนใจความต้องการที่อยากจะใช้ในปริมาณมาก จึงทำให้พบเห็นวัยรุ่นบางส่วนในสมัยนี้ เกิดพฤติกรรมการเสพติดสื่อออนไลน์ จนทำให้ไม่สามารถแยกระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและโลกออนไลน์ได้ ” และเห็นเพื่อนบางคนแบ่งเวลาไม่ได้ จนส่งผลกระทวบต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ด้วย
โดยหลังจากนั้นคุณหมอต้นได้อธิบายถึงปัญหาและสาเหตุที่วัยรุ่นเข้ามาทำการรักษาเกี่ยวกับสุขภาพจิตว่า เราต้องย้อนไปตั้งแต่วัยเด็กเพราะความจริงแล้ว ถือได้ว่าเป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกันมาโดยปัญหาวัยรุ่นส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาปลายเหตุ เพราะบางทีอาจจะมีปัญหาตั้งแต่สมัยเรียนประถมและสะสมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากสถิติผู้ป่วยที่มาสถาบัน สำหรับปฐมวัย คือกลุ่มพัฒนาการล่าช้า หรือกลุ่มออทิสติก ส่วนหนึ่งก็มาจากกรรมพันธุ์หรืออาจเกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่นขาดการกระตุ้นพัฒนาการโดยเฉพาะปัจจุบัน หลายครอบครัวอยู่กับปู่ย่าตายายซึ่งการกระตุ้นพัฒนาการสำหรับผู้สูงอายุที่ดูแลหลานเล็ก ๆ ไม่มีพลังงานมากพอที่จะไปกระตุ้นเด็ก เหมือนกับวัยหนุ่มสาวจึงทำให้เด็กเกิดปัญหาทางด้านพัฒนาการอย่างเช่นพูดช้าเขียนหนังสือช้า ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลืออาจจะทำให้เด็ก IQ ต่ำกว่าปกติได้ส่วนเด็กในวัยเรียน ส่วนมากที่เข้ามาทำการรักษาก็จะเป็นกลุ่มสมาธิสั้นเช่นไม่มีสมาธิในการเรียน ซนไม่เชื่อฟัง ไม่นิ่ง ซึ่งสามารถทำการรักษาได้ด้วยยา ซึ่งในปัจจุบันการรักษาเด็กสมาธิสั้นด้วยยาถือว่าได้ผลดีเป็นอย่างมาก
วัยรุ่นที่เป็นกลุ่มประเภทอาการซึมเศร้า สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นตได้คือ (1) หงุดหงิด (2) ท้อแท้เบื่อหน่าย (3)ไม่อยากไปเรียน มีอาการติดต่อ 2 สัปดาห์ ขึ้นไป โดยโรคซึมเศร้านั้นสามารถเกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัย ได้แก่สิ่งแวดล้อมและกรรมพันธุ์ โดยทางสิ่งแวดล้อมสามารถเกิดได้จากความเครียดพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือ จากการเสพสารเสพติด ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหามีทั้งหมด 2 วิธีด้วยกัน คือ สำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจากกรรมพันธุ์จะต้องเฝ้าระวังมากกว่าปกติโดยพยายามหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดความเครียดรวมไปถึงการใช้สารเสพติดหรือดื่มสุราเพราะอาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคได้ นอกจากนี้ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะถ้าหากเราพักผ่อนไม่เพียงพออาจจะทำให้เกิดสภาวะความตึงเครียดและนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ นอกจากนี้การเปลี่ยนวิธีคิดเชิงบวกก็สามารถช่วยได้เช่นเดียวกัน
คุณหมอต้น ได้กล่าวถึงการรักษาผู้ป่วยทางจิตด้วยยา ว่า ปัจจุบันการรักษาด้วยยาก็เป็นสิ่งที่สำคัญเพราะโรคจิตเวชหลายโรคเกิดจากกรรมพันธุ์ สารเคมีในสมองไม่สมดุลซึ่งการใช้ยารักษาจะสามารถรักษาได้ดี เช่น โรคซึมเศร้า โรคสมาธิสั้น จึงอยากแนะนำให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการรักษาด้วยยา รวมถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยเกี่ยวกับผู้มีปัญหาทางจิตว่า การที่เราเข้ามารักษากับจิตแพทย์ นั้นไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นบ้าหรือเป็นโรคประสาท ไม่ควรเหมารวมหรือล้อกันในสังคม ควรสร้างทัศนคติใหม่ ถ้าหากมีปัญหาด้านความคิด วิตกกังวล รู้สึกเศร้าอยู่ตลอดเวลา ควรไปพบจิตแพทย์ หรือพูดคุยให้คนที่ไว้ใจฟัง อย่าเก็บไว้คนเดียว จนกลายเป็นปัญหาแล้วหาทางออกไม่เจอ สุดท้ายอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตที่ร้ายแรงบางคนถึงขั้นฆ่าตัวตาย ทิ้งปัญหาให้คนข้างหลัง กลายเป็นปัญหาสังคมในที่สุด
ในช่วงสุดท้าย คุณหมอต้นได้แนะนำวิธีการดูแลเด็กและวัยรุ่นสำหรับผู้ปกครองและการดูแลตนเองของวัยรุ่นไม่ให้เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพทางจิตว่า ก่อนอื่นเราจะต้องให้ผู้ปกครองทำความเข้าใจว่า ” วัยรุ่นในปัจจุบันกับในอดีตนั้นไม่เหมือนกันเพราะในปัจจุบันมีเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องจึงทำให้สภาพสังคมนั้นเปลี่ยนไปเราไม่สามารถไปคาดหวังเด็กให้เป็นในสิ่งที่เราต้องการได้จึงอยากให้ผู้ปกครองเข้าใจและเปิดใจยอมรับการที่เราเข้าใจเปิดใจยอมรับวัยรุ่นมากขึ้นจะทำให้สัมพันธภาพดีขึ้น โดยจะให้หลักการที่เรียกง่ายๆว่า 3 ส. คือ (1) สร้างสัมพันธภาพ (2) สร้างวินัยและ (3) สอนง่าย ดังนั้นเราจะต้องสร้างสัมพันธภาพมาก่อนอันดับแรกจากนั้นเราถึงจะสามารถสร้างวินัยให้กับเด็กและวัยรุ่นได้และสุดท้ายเขาจะ เป็นคนที่สอนง่าย เช่น หากลูกติดเกมผู้ปกครองควรที่จะสร้างสัมพันธภาพกับลูกด้วยการเข้าไปเล่นเกมกับลูกเพื่อที่จะทำให้เด็กรู้สึกว่าพ่อแม่เป็นพวกเดียวกันกับเขาจากนั้นเราค่อยสร้างวินัยให้กับลูกและเด็ก ๆเหล่านั้นจะกลายเป็นเด็กที่สอนง่ายส่วนวัยรุ่นก็จะต้องทำความเข้าใจว่าคุณพ่อคุณแม่มีมุมมอง ของท่านซึ่งเขาก็ผ่านการเลี้ยงดูผ่านประสบการณ์มาอีกรูปแบบนึง เพราะฉะนั้นวัยรุ่นเองก็อย่าไปต่อล้อต่อเถียงควรจะรับฟังเปิดใจเช่นเดียวกันและหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ถ้ารู้สึกว่าพูดคุยกันแล้วโมโห หรือมีอาการเสียงดังหัวร้อน ให้หยุดพูด คุยกันก่อนแล้วกลับไปทบทวนเมื่ออารมณ์เย็นลงค่อยกลับมาคุยกันนอกจากนี้วัยรุ่นควรที่จะพัฒนาตัวเองในการใช้สื่อโดยควรที่จะเสพสื่ออย่างมีสติเพราะในปัจจุบันนี้มีสื่อเข้ามาเยอะมากดังนั้นเราควรเลือกที่จะเสพสื่อเพราะถ้าเราเสียบในเรื่องที่เครียดก็อาจจะทำให้เราเกิดสภาวะเครียดตามสื่อได้ดังนั้นจึงอยากให้ใช้สื่ออย่างมีสติเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมาในอนาคต ”
รายการวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อชุมชน เป็นรายการที่ให้บริการประชาสัมพันธ์กิจกรรมภายในชุมชน และเป็นช่องทางการสื่อสาร สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชนและมหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกอากาศเป็นประจำทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี เวลา 15.00-16.00 น. ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น FM.103 MHz. และ Live สดผ่านทาง Face book KKU Radio สามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ https://radio.kku.ac.th/ ติดต่อร่วมรายการได้ที่ คุณชุตินันท์ พันธ์จรุง โทร 086-6545144 หรือ pchutinan@kku.ac.th ผู้ดำเนินรายการ
เขียนข่าว: นายเสกสรร นาหัวนิล นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ถ่ายภาพ : นางสาววราฉัตร มณีวงศ์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ