พช.อุบลฯชูแนวทาง“บวร”ขับเคลื่อนโคกหนองนาโมเดลโขงเจียม

สำนักข่าว: บ้านเมือง
URL: https://www.banmuang.co.th/news/region/214054
วันที่เผยแพร่: 28 พ.ย. 2563

พช.อุบลฯลุยอำเภอโขงเจียมขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดล ด้วยแนวทาง”บวร”

วันที่ 28 พ.ย.63 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนได้มอบหมายให้นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี  ลงพื้นที่อำเภอโขงเจียม พบปะผู้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมหลักสูตรวิทยากรและผู้นำการขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รุ่นที่ 1 ซึ่งมีกำหนดดำเนินการระหว่างวันที่ 27-30 พฤศจิกายน 2563  ณ ศูนย์ฝึกอบรมวัดป่าศรีแสงธรรม อําเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี และพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เข้ากราบนมัสการพระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม หมู่ 5 บ้านดงดิบ ต.ห้วยยาง อ.โขงเจียม พระนักพัฒนาที่เมตตาให้ช่วยเหลือเเละสนับสนุนงานพัฒนาชุมชนมาโดยตลอด นับเป็นตามหลัก”บวร”หรือ บ้าน วัด และราชการร่วมกันดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

โครงการฝึกอบรมหลักสูตรวิทยากรและผู้นำการขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จัดโดยกรมการพัฒนาชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างทีมวิทยากรและผู้นำการขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มเป้าหมาย รุ่นที่ 1 จำนวน 63 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากสถาบันการพัฒนาชุมชน เเละภาคีเครือข่ายงานพัฒนาชุมชน โดยรุ่นที่ 1 ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมาจากศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี, เครือข่ายวิทยากรจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น, เครือข่ายวิทยากรโคกหินแห่โมเดล สกลนคร,  เครือข่ายวิทยากรณ์โคกหนองนาบ้านเฮา มหาสารคาม, เครือข่ายวิทยากรทีมเอามือสามัคคี บุรีรัมย์, เครือข่ายวิทยากรศูนย์วัดศรีแสงธรรม อุบลราชธานี,  เครือข่ายวิทยากรศูนย์วัดภูอานนท์ อุบลราชธานี , เครือข่ายวิทยากรศูนย์สารภีท่าช้าง อุบลราชธานี และเครือข่ายวิทยากรศูนย์บ้านดอนหมู อุบลราชธานี โดยผลผลิตที่ได้จากโครงการนี้ จะเป็นวิทยากรในการขยายผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”

จังหวัดอุบลราชธานี มีแผนการฝึกอบรมกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” โดยได้กำหนดสถานที่สำหรับฝึกอบรม จำนวน 6 แห่ง เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนกลุ่มเป้าหมายของจังหวัดอุบลราชธานี และให้ทันตามห้วงเวลาที่กำหนด ซึ่งวิทยากรที่ผ่านการอบรมจากโครงการนี้จะเป็นเป็นวิทยากรครูพาทำในการฝึกอบรมแก่พี่น้องประชาชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการต่อไปภายใต้การช่วยเหลือสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายเช่น มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มเซฟอุบล และคณะสงฆ์อุบลราชธานี

Scroll to Top