มข.หนุนพลังงานสะอาด ผุดเชื้อเพลิงชีวภาพจากมวลสาหร่าย “ไฮเทน” แหล่งพลังงานใหม่ ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม

มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เปิดเผยผลงานวิจัย การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ “ไฮเทน” พลังงานสะอาดผลิตจากมวลสาหร่าย ประสิทธิภาพการเผาไหม้สูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (4 ธันวาคม 2563) เวลา 10.30 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานแถลงข่าวผลงานวิจัย เรื่อง “การผลิตก๊าซไฮเทนจากจุลสาหร่าย” โดยมี รศ. นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานกล่าวต้อนรับสื่อมวลชน  พร้อมด้วยคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.ดร. อลิศรา เรืองแสง นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา เมธีวิจัยอาวุโส สกว. นักวิจัยเกียรติคุณสารสิน จากสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเทคโนโลยี แถลงข่าว ณ ห้องสิริคุณากร 4 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์ นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า  มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีหน้าที่สนับสนุนงานวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน งานวิจัยชิ้นนี้ก็เช่นกัน การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพไฮเทนจากจุลสาหร่าย ทำให้เกิดเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพแล้วยังเป็นพลังงานสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบาย ด้านประชาคม  หรือ ผู้มีส่วนได้เสียของมหาวิทยาลัย (People) การทำงานวิจัย (Research transformation)  ตามความต้องการของผู้ใช้งานหรือตามปัญหาของประเทศ ปรับเปลี่ยนเป้าหมายการทำวิจัยให้ไกลกว่าการตีพิมพ์ สู่การนำไปใช้จริง เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่หรือนวัตกรรมงาน   วิจัยนี้จะถูกนำมาใช้ประโยชน์มากมายต่อสังคมโลกในอนาคต

ปัจจุบันเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากสารชีวมวลกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น และถูกนำมาใช้ประโยชน์มากมาย อาทิ นำไปผลิต“ก๊าซ CBG” ที่ใช้ในการหุงต้ม เพื่อผลิตความร้อนหรือพลังงานไฟฟ้า หรือใช้แทนก๊าซ NGV (Natural Gas for Vehicle) เป็นเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ต่าง ๆ ซึ่งเชื้อเพลิงชีวภาพนั้นนอกจากจะเป็นเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพแล้วยังเป็นพลังงานสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

จากรายงานสถานการณ์พลังงานของประเทศไทย ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม – กรกฎาคม) พบว่าความต้องการพลังงานภายในประเทศไทยยังคงเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยมีมูลค่าการนำเข้าพลังงานมากถึง 410,261 ล้านบาท โดยมีการนําเข้าน้ำมันดิบมากที่สุดฉะนั้นการใช้ชีวมวลสาหร่ายขนาดเล็กเพื่อการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพไฮเทนที่เป็นพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) สะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจในการแก้ปัญหานี้ โดยการดำเนินการวิจัยที่ผ่านมา ทำให้ได้รับองค์ความรู้ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็ก การเก็บเกี่ยว และการปรับสภาพชีวมวลสาหร่าย รวมไปถึงกระบวนการใช้ชีวมวลสาหร่ายขนาดเล็กเพื่อผลิตไฮโดรเจน มีเทน และไฮเทน ทั้งนี้เพื่อมุ่งให้เกิดศักยภาพต่อการนำไปขยายขนาดการผลิตไฮเทนในระดับอุตสาหกรรม และเกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ อีกทั้งได้พลังงานทดแทนที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ศ.ดร.อลิศรา เรืองแสง นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จากสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ไฮเทน มาจาก ไฮโดรเจน ผสมกับ มีเทน เป็นการนำเอาชีวมวลสาหร่ายขนาดเล็กมาผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจึงเป็นทางเลือกที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากภายในเซลล์สาหร่ายขนาดเล็กมีการสะสมโปรตีนร้อยละ 15-84 ไขมันร้อยละ 1-63 และคาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 7-69 และไม่มีลิกนินเป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์ ซึ่งเหมาะต่อการนำไปใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ นอกจากนั้น สาหร่ายขนาดเล็กนี้สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วและเก็บเกี่ยวเพื่อนำไปผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งเพาะเลี้ยงได้ง่ายในธรรมชาติ ใช้พื้นที่ในการเพาะเลี้ยงน้อย ซึ่งจัดได้ว่าเป็นอีกเหตุผลเด่นอีกหนึ่งข้อของการนำชีวมวลสาหร่ายขนาดเล็กไปใช้เพื่อการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งงานวิจัยได้ใช้ชีวมวลของ Chlorella sp. ซึ่งเป็นสาหร่ายขนาดเล็ก ที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ต้องมองผ่านกล้องจุลทรรศน์เท่านั้น โดยทางทีมวิจัยได้นำชีวมวลสาหร่ายขนาดเล็กนี้ไปใช้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ได้แก่ ไฮโดรเจน มีเทน โดยขั้นตอนแรกจะเป็นการใช้ชีวมวลของ Chlorella sp. เพื่อผลิตไฮโดรเจน และในขั้นตอนที่สองจะเป็นการใช้น้ำทิ้งที่เหลือจากกระบวนการผลิตไฮโดรเจนเพื่อผลิตมีเทน เมื่อนำไฮโดรเจนร้อยละ 5-10 ผสมกับมีเทนร้อยละ 50-65 จะได้แก๊สผสมที่เรียกว่า ไฮเทน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีประสิทธิภาพการเผาไหม้สูง เป็นพลังงานสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“ไฮเทน เป็นการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างแท้จริง ทดแทน การพัฒนางานวิจัยทางด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ  ที่ส่วนใหญ่มักมาจากผลผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ อาทิ อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยกตัวอย่างเช่น  ไฮโดรเจน มีเทน ไบโอดีเซล และเอทานอล  ซึ่งเป็นที่ถกเถียงว่าแม้พืชชีวมวลทางการเกษตรจะให้ผลผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพสูง แต่ต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกมาก รวมถึงสารฆ่าแมลงที่ใช้ในการเพาะปลูก แต่กลับส่งผลต่อระบบนิเวศ อีกทั้งยังเกิดประเด็นโต้แย้งที่สำคัญในการนำพืชอาหารมาใช้เป็นพืชพลังงาน ไฮเทน เชื้อเพลิงชีวภาพจากมวลสาหร่าย จึงนับเป็นพลังงานสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง”

ข่าว จิราพร  ประทุมชัย

ภาพ : บริพัตร  ทาสี /  เสกสรร  นาหัวนิล

KKU promotes clean energy from alga mass or “hythane”, a new environmental friendly energy source

https://www.kku.ac.th/8271

Scroll to Top