สำนักข่าว: สยามรัฐ
URL: https://siamrath.co.th/n/199623
วันที่เผยแพร่: 24 พ.ย. 2563
เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 24 พ.ย.2563 ที่สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. รศ.เกรียงศักดิ์ ภักดี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย ผศ.ดร.สมเกียรติ ศรีจารนัย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มข.ร่วมกันแถลงข่าวการจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก ระดับชาติ ครั้งที่ 16 ซึ่งมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ สอวน. ร่วมกับ มข. เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ระหว่างวันที่ 28 พ.ย. – 1 ธ.ค. 2563 ที่ อาคารวิทยวิภาส คณะวิทยาศาสตร์ มข. ท่ามกลางความสนใจจากสื่อมวลชน คณาจารย์ และนักศึกษาเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
ผศ.ดร.สมเกียรติ ศรีจารนัย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มข. กล่าวว่า การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติครั้งที่ 16 นี้ จะมีนักเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขัน ทั้งสิ้น 93 คน โดยเป็นนักเรียนตัวแทนศูนย์ที่ผ่านค่ายที่สองจากศูนย์ สอวน ทั่วประเทศ จำนวน 90 คน และนักเรียนจากโครงการ สสวท. 3 คน รวมไปถึงอาจารย์ผู้แทนศูนย์จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศและครูสังเกตการณ์จากศูนย์ สอวน. จำนวน 51 คน ๆ และแขกผู้มีเกียรติจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพิ้นฐาน(สพฐ.) และหน่วยงานผู้ให้การสนับสนุน รวมผู้เข้ากิจกรรมทั้งสิ้นประมาณ 300 คน
” การแข่งขันดังกล่าวจะมีกิจกรรมที่สำคัญที่ แบ่งออกเป็นกิจกรรมของคณาจารย์และกิจกรรมของนักเรียน โดยกิจกรรมของคณาจารย์ จะประกอบด้วย การพิจารณาข้อสอบ การพิจารณาผลสอบ การตัดสินผล และการให้รางวัล โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับดีเยี่ยม ระดับดีมาก และระดับดี ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดเป็นแนวทางเดียวกันกับที่ปฏิบัติกันในการสอบแข่งขันระดับนานาชาติ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมทัศนศึกษา ส่วนกิจกรรมของนักเรียนประกอบด้วย การสอบ 2 วัน วันละ 3 ชั่วโมงด้วยโจทย์ 6 ข้อที่เรียกได้ว่าเป็นข้อสอบที่หินที่สุด นอกจากนี้ยังคงมีการกำหนดจัดกิจกรรมนันทนาการ และกิจกรรมทัศนศึกษา โดยในการแข่งขันนั้นจะมีการคัดเลือกนักเรียนที่ได้รับรางวัลเข้าสู่การอบรมของ สสวท.จำนวนประมาณ 30 คน รวมไปถึงการคัดเลือกนักเรียนตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติต่อไป”
ผศ.ดร.สมเกียรติ กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของการจัดการแข่งขันในครั้งนี้คือกายกระดับ และกระตุ้นให้มีให้มีการพัฒนาหลักสูตร และมาตรฐานของระบบการเรียนการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ของประเทศ ให้ทัดเทียบนานาประเทศการให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันเกิดความรักและสนใจที่จะมุ่งเน้นศึกษาทางด้านคอมพิวเตอร์ หรือเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวข้องในระดับอุดมศึกษา จนอาจประกอบอาชีพทางคอมพิวเตอร์ในอนาคต การคัดเลือกนักเรียนที่เข้าอบรมวิชาคอมพิวเตอร์ที่เป็นตัวแทนจากศูนย์ สอวน. ทั้ง 13 ศูนย์ทั่วประเทศ ให้เป็นตัวแทนเข้าร่วมการอบรมค่ายโอลิมปิกวิชาการ ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในรอบต่อไป ทั้งยังคงเป็นการให้คณาจารย์จากศูนย์ สอวน. ทุกศูนย์มีประสบการณ์ร่วมกันในการเข้าร่วมจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งสามารถนำไปใช้ปรับปรุงการสอน รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการอบรมทางวิชาการในสาขาคอมพิวเตอร์ให้ดียิ่งขึ้น และที่สำคัญคือการสร้างโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนทางความคิดของนักเรียน ตัวแทนครูจากโรงเรียน และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีโอกาสส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางการศึกษาโดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีด้านดิจิทัลที่มีการพัฒนาไปอย่างมากในปัจจุบัน รวมถึงการพัฒนากำลังคนในสมรรถนะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่นเองก็ได้เล็งเห็นความสำคัญในการเป็นศูนย์กลางและการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับสูง
โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเชิงคำนวณ(Computational Thinking) ด้วยการโปรแกรม (Programming) ซึ่งจะเป็นฐานความรู้ที่สำคัญสำหรับนักเรียนในการต่อยอดไปสู่การพัฒนาและวิจัยทางด้านการคิดคำนวณขั้นสูง การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ การพัฒนาซอฟต์แวร์และนวัตกรรมด้านดิจิทัลให้เป็นประโยชน์สำหรับประเทศต่อไป