สำนักข่าว: ไทยรัฐออนไลน์
URL: https://www.thairath.co.th/news/local/1963815
วันที่เผยแพร่: 29 ต.ค. 2563
ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รักษาการรองผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เผยถึงโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลสำหรับประเทศลุ่มน้ำโขง เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว (Rice Gene Discovery Unit) ร่วมกับมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และหน่วยงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น
กรมการข้าว มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี Department of Agricultural Research (DAR) จากเมียนมา National Agriculture and Forestry Research Institute (NAFRI) จาก สปป.ลาว
โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สวทช. และ Generation Challenge Programme ในการจัดฝึกอบรมภาคปฏิบัติและสถานที่วิจัย เพื่อพัฒนาบุคลากร และการทำงานวิจัยร่วมกัน ตลอดจนการให้ทุนการศึกษาทั้งระดับปริญญาโท และปริญญาเอก เพื่อให้นัก ศึกษาและนักวิจัยนำเอาความรู้และเทคโนโลยีกลับไปปรับปรุงพันธุ์ข้าวของประเทศตัวเองต่อไป
จากการทำงานร่วมกันทำให้ NAFRI สามารถพัฒนาปรับปรุงพันธุ์จนได้ข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่… ข้าวเหนียวหอมท่าดอกคำ 8 (HTDK8) เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่าง ข้าวเหนียวท่าดอกคำ 8 พันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง และนิยมปลูกกันมาก ใน สปป.ลาว กับ ข้าวเหนียวหอม เป็นสายพันธุ์ที่พัฒนาโดยหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว โดยนำเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกพันธุ์ (MAS) มาใช้คัดเลือกลักษณะความหอม และมียีนต้านทานโรคใบไหม้
ทำให้ข้าวเหนียวหอมท่าดอกคำ 8 เป็นพันธุ์ที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ เติบโตได้ดี ให้ผลผลิตสูง อายุ 130-135 วัน ลักษณะต้นเตี้ยปานกลาง ลำต้นแข็งแรงไม่ล้มง่าย เป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสงทำให้สามารถปลูกได้ทั้งในนาปรังและนาปี เหมาะสมในการปลูกในภาคกลาง ภาคใต้ และบางเขตในภาคเหนือของ สปป.ลาว เช่น แขวงบ่อแก้ว หลวงน้ำทา ไซยะบุรี อุดมไซ และหลวงพระบาง
ปัจจุบันทางกระทรวงเกษตรของ สปป.ลาว โดยศูนย์ค้นคว้าวิจัยข้าว กำลังผลิตเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์เพื่อส่งมอบให้กับเกษตรกรใน 5 แขวงเป้าหมาย ได้แก่ แขวงไซยะบุรี แขวงเวียงจันทน์ นครหลวงเวียงจันทน์ บอลิคำไซ และคำม่วน เพื่อปลูกและผลิตขายในเชิงพาณิชย์ต่อไป.