สำนักข่าว: กรุงเทพธุรกิจ
URL: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/904431
วันที่เผยแพร่: 26 ต.ค. 2563
สสส.จัดเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น ถอดบทเรียน ขับเคลื่อน “ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง” 10 ประเด็น ชี้มีศักยภาพ ขีดความสามารถปรับตัวรับมือวิกฤตและความเปลี่ยนแปลง ลั่นพร้อมสนับสนุน กระตุ้น เคียงข้างชุมชนท้องถิ่น
น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายภาค (ศวภ.) และสถาบันวิชาการคู่ความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น จัดงานเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น วาระ: ทศวรรษร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ (A Decade of Togetherness in Co-Creating Healthy Communities) ระหว่างวันที่ 27 – 29 ตุลาคม 2563 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็คเมืองทองธานี
โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายแนวคิด แนวทาง และวิธีการสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการสร้างทศวรรษที่น่าอยู่บนฐานทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น โดยมีองค์กรหลักในพื้นที่ ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ท้องที่ องค์กรชุมชน หน่วยงานรัฐในพื้นที่ ภาคียุทธศาสตร์ อาทิ กรมการพัฒนาชุมชน กรมกิจการผู้สูงอายุ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และคณะทำงาน ร่วมงานกว่า 2,000 คน จากกว่า 600 ตำบล
น.ส.ดวงพร กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดงานเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นครั้งนี้ เป็นการสรุปบทเรียน 10 ปีที่ผ่านมาของแผนสุขภาวะชุมชน สสส. และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และเป็นการเสริมศักยภาพผู้นำชุมชนท้องถิ่นให้สามารถวิเคราะห์ และสังเคราะห์รูปธรรมการปรับตัว หรือตั้งรับ (resilience) ของชุมชนท้องถิ่นทั้งในสถานการณ์ทั่วไปและวิกฤต รวมถึงร่วมกันชี้ทิศทางและร่วมกันกำหนดทิศทางอนาคต 10 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) การรับมือภัยพิบัติและรับมือภาวะฉุกเฉิน (2) การควบคุมโรคติดต่อ (3) ระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น (4) การดูแลกลุ่มเปราะบาง (5) การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน (6) การเสริมความเข้มแข็งโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมโดยชุมชน (7) การจัดการสิ่งแวดล้อมโดยชุมชนท้องถิ่น (8) การควบคุมและลดการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(9) เศรษฐกิจชุมชน และ (10) การจัดการอาหารชุมชน ซึ่งสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชนได้สนับสนุน กระตุ้น และรณรงค์ให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดย อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรชุมชน และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
“สสส.มีเป้าหมายที่จะสร้างผู้นำ ใน 3,000 ตำบลของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ต่อไปอีก 10 ปีข้างหน้าชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งจะขยายตัวเต็มทั่วทั้งประเทศ เป็นการสร้างเครือข่ายโดยการดึงศักยภาพของคนในชุมชนทำให้ชุมชนจัดการทุนทางสังคมของตนเอง ไม่เป็นภาระ แต่เป็นพลังสำคัญของรัฐในการพัฒนาประเทศ และเชื่อมั่นว่าสสส. ทำได้อย่างแน่นอน และจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชุมชน สังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน” น.ส.ดวงพร กล่าว
น.ส.ดวงพร กล่าว กล่าวด้วยว่า ปัจจัยความสำเร็จในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย “ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ประกอบด้วยกิจกรรมเชิงยุทธศาสตร์ 3 ประการ คือ (1) ระบบการจัดการพื้นที่(คน–กลไก–ข้อมูล) (2) การพัฒนานวัตกรรม และ (3) การบูรณาการภายในชุมชนและภายนอกชุมชน จนเกิดเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มแข็ง มีรูปธรรมการพัฒนา ที่รองรับพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับประเทศและระดับโลกที่เข้ามากระทบกับวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นได้