สำนักข่าว: RYT9
URL: https://www.ryt9.com/s/prg/3166940
วันที่เผยแพร่: 14 ต.ค. 2563
หลังจากที่ มิวเซียมสยาม จับมือกับ องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Earth Day Organization) และภาคีเครือข่ายกว่าอีก 11 แห่ง ประกอบด้วย SCG, Precious Plastic Bangkok, วัดจากแดง, บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน), SIAM SERPENTARIUM, เดอะศาลายา ไทยโซน, พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน, พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ จัดทำ โครงการขยะบทที่ 2 เพื่อกระตุ้นให้สังคมไทยเกิดการตระหนักรู้ในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเปิดรับบริจาคขยะที่สามารถ รีไซเคิลได้ตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เชิญชวนให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม ในวันนี้ได้ส่งต่อขยะที่รับบริจาคให้กับเครือข่ายที่จะแปรรูปขยะให้กลับมามีคุณค่าและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกครั้ง
โครงการขยะบทที่ 2 ทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง ให้พื้นที่ในการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ เช่น จัดตั้งถังขยะความรู้ที่เขียนข้อความให้ข้อมูลในการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง 3 ประเภทไว้ในพื้นที่โดยรอบมิวเซียมสยาม เพื่อให้ความรู้แก่คนทั่วไป นอกจากนี้มิวเซียมสยามยังเปิดรับบริจาคขยะประเภทขวดพลาสติก และกระดาษใบเสร็จเพื่อนำไปส่งต่อกับองค์กรเครือข่ายภายใต้แนวคิด ?You bring I give? ซึ่งองค์กรเครือข่ายจะนำขยะที่ได้รับไปแปรรูปให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้
ปัจจุบันมี 3 องค์กรเครือข่าย ที่ทำหน้าที่แปรรูปขยะแต่ละประเภทที่แตกต่างกันให้เกิดประโยชน์ ได้แก่ Precious Plastic Bangkok นำฝาขวดพลาสติกไปแปรรูปเป็นของใช้ในบ้าน, วัดจากแดง นำขวดพลาสติกมาแปรรูปเป็นเส้นใยเพื่อผลิตจีวรพระสงฆ์ และบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) นำกระดาษมาผลิตเป็นสมุด โดยในตอนนี้กำลังเข้าสู่ขั้นตอนของการส่งต่อขยะที่ได้รับมาให้ทั้งสามองค์กรนำไปแปรรูปให้เข้าสู่บทที่ 2 อย่างแท้จริง
สำหรับ Precious Plastic Bangkok หนึ่งในภาคีเครือข่าย ซึ่งดำเนินการโดย คุณดอมินิก ภูวสวัสดิ์ จักรพงษ์ ก่อตั้งขึ้นด้วยแนวคิดที่หวังพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีของการรีไซเคิล และพยายามทำให้ชุมชนทั่วกรุงเทพและประเทศไทยสามารถรีไซเคิลพลาสติกและขยะในครัวเรือนได้ง่ายและสะดวกที่สุด ที่นี่ยังเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ตัดสินใจร่วมเป็นหนึ่งในภาคีของโครงการนี้ เนื่องจากต้องการให้ความรู้และให้แรงบันดาลใจแก่กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ซึ่งพื้นที่ของมิวเซียมสยามเองเป็นสื่อกลางในการเรียนรู้เรื่องดังกล่าวได้อีกทางหนึ่ง เพราะที่มิวเซียมสยามมีนักเรียนนักศึกษาเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก นายดอมินิก ผู้จัดตั้งโครงการ Precious Plastic Bangkok จึงหวังว่าจะสามารถให้ความรู้และให้แรงบันดาลใจ คนรุ่นใหม่ ให้พวกเขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมได้
Precious Plastic Bangkok ได้รับการส่งต่อขยะในส่วนของฝาขวดน้ำพลาสติกเพื่อนำไปบดละเอียด ละลาย และบีบอัดใหม่ให้เป็นกระถางต้นไม้และชามหลากสี สีสันสวยงาม โดยฝาขวดพลาสติกจำนวน 50-70 ฝา สามารถนำมาแปรรูปเป็นกระถางต้นไม้ใบเล็กได้ 1 ใบ
สำหรับวัดจากแดงได้รับการส่งต่อขยะประเภทขวดน้ำดื่มพลาสติกที่นำไปแปรรูปเป็นเส้นใยผ้า เพื่อนำมาถักทอร่วมกับเส้นใยชนิดอื่นเป็นจีวรให้พระสงฆ์ โดยขวดน้ำขนาด 1.5 ลิตรจำนวน 15 ขวดสามารถนำมาถักทอเป็นจีวรได้ 1 ผืน จึงสามารถช่วยลดขยะจำพวกขวดพลาสติกได้เป็นจำนวนมาก สำหรับผู้แปรรูปขยะในโครงการรายสุดท้าย ได้แก่ บมจ.ทางยกระดับดอนเมืองจะรับขยะจำพวกระดาษใช้แล้วไปแปรรูปเป็นสมุดเขียนบันทึก นอกจากนี้มิวเซียมสยามยังมีสินค้าที่ส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ภายใต้แบรนด์ ?Muse Shop? ในคอลเลกชัน ?มี.มา.เอง? ให้ลูกค้านักอนุรักษ์ทุกคนเลือกซื้อ นอกจากได้สินค้าสวยงามแล้ว ยังได้ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมไปในตัว
มิวเซียมสยาม องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Earth Day Organization) และภาคีเครือข่ายทั้ง 11 แห่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการปลูกฝังและสร้างความตระหนักรู้ในการแยกขยะ สร้างประโยชน์จากบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง และลดปริมาณขยะเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้อยู่ร่วมกับมนุษย์เราต่อไปอย่างยั่งยืน