มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะวิทยาศาสตร์ จัดพิธีถวายพานพุ่มราชสักการะพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” เนื่องใน “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” ประจำปี 2563
วันนี้ (18 สิงหาคม 2563) มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะวิทยาศาสตร์ จัดพิธีถวายพานพุ่มราชสักการะพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” เนื่องใน “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” โดยมี อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย ผศ.ดร.สมเกียรติ ศรีจารนัย คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ และบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมพิธีฯ ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธี นำหัวหน้าหน่วยงานราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อวงการวิทยาศาสตร์ไทยและประเทศชาติ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช แห่ง พระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เมื่อทรงพระชันษา 21 พรรษา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ พระองค์ทรงใช้เวลาในขณะที่ครองสมณเพศ เพื่อการศึกษาวิชาการต่าง ๆ เช่น ภาษาบาลี ภาษากรีก-ลาติน และภาษาอังกฤษ ทรงสน พระราชหฤทัยในวิชาภูมิศาสตร์ ตลอดจนวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ ที่สำคัญยิ่ง คือ วิชาดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ชั้นสูง วิชาโลหะวิทยาและอุตุนิยมวิทยา
นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ทรงเริ่มสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่าง พระมหากษัตริย์กับ อาณาประชาราษฎร ให้เข้ากับกาลสมัยในรูปใหม่ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน การเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่พระองค์ ทรงอยู่ในสมณเพศนานถึง ๒๗ พรรษา ได้เสด็จธุดงค์ไปยังหัวเมืองต่างๆ เป็นโอกาสให้ทรงได้รับรู้สภาพความเป็นอยู่ โดยแท้จริงของ ราษฎรส่วนใหญ่ด้วยพระองค์เอง นับเป็นประสบการณ์ที่มีค่ายิ่ง และเป็นการเตรียมพระองค์เพื่อปกครองบ้านเมืองในอนาคตเป็นอย่างดี
ประกอบกับลัทธิจักรวรรดินิยม ที่แผ่ขยายมายังประเทศใกล้เคียงในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และในทวีปเอเซีย ทำให้พระองค์ทรง ตระหนักว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศสยาม จะต้องยอมรับอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตก และเร่งปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย โดยทรงปฏิบัติ พระราชกรณียกิจในหลายๆ ด้านไปพร้อมๆ กันด้วยพระบรมราโชบายที่มีทรรศนะไกล และด้วยความสุขุม
นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ทรงเล็งเห็นว่า การศึกษาสมัยใหม่ เป็นสิ่งจำเป็นในการปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัย เป็นที่ยอมรับของประเทศมหาอำนาจตะวันตก ทรงสนับสนุนงานริเริ่มจัดการศึกษาสมัยใหม่ โดยคณะมิชชั่นนารี อย่างดียิ่ง ทรง เป็น “องค์วิชาการ” ทรงใฝ่พระทัยศึกษาด้วยพระองค์เอง ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วรรณคดี ปรัชญาศาสนาต่างๆ ภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์ ใน พ.ศ.2411 ปรากฎว่า พระองค์ทรงสามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ที่ตำบล หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้อย่างแม่นยำ เป็นที่เลื่องลือในวงการดาราศาสตร์ทั่วโลก
การพิสูจน์การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนั้นถือเป็นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่และครั้งแรกของประวัติศาสตร์ชาติไทยโดยพระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นผู้คำนวณด้วยพระองค์เองต่อหน้าคณะนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสและแขกเมืองชาวต่างประเทศ ซึ่งพระองค์ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาไว้ล่วงหน้า 2 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 และเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2525 เทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 เป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช