“มข.” ร่วมพัฒนาทักษะครู-นักจัดการเรียนรู้ สำหรับห้องเรียนในศตวรรษ ที่ 21

สำนักข่าว: บ้านเมือง
URL:https://www.banmuang.co.th/news/region/202104
วันที่เผยแพร่: 11 ส.ค. 2563

เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8-9 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ณ ห้อง Smart Classroom ชั้น 4 อาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ได้จัดการอบรมออนไลน์ เรื่อง “หลักการและทฤษฎีเกี่ยวกับนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ระดับพื้นฐาน”
โดยกิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดย สำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาและสถานศึกษา ซึ่งได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาทักษะครูและนักจัดการเรียนรู้สำหรับห้องเรียนในศตวรรษ ที่ 21 ได้เชิญให้ รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ และรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการเรียนรู้ เป็นวิทยากรอบรมเชิงปฏิบัติการออนไลน์ ในหัวข้อดังกล่าว
ซึ่งกิจกรรมในวันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม 2563 ประกอบด้วย– การบรรยายเรื่อง “การพัฒนาวิชาชีพครูและวิธีการปฏิบัติการสอนแบบเดิมกับการพัฒนาวิชาชีพครูด้วย การศึกษาและวิธีการแบบเปิด (Lesson Study and Open Approach)” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์
การเปิดชั้นเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ สาธิตการจัดการเรียนรู้ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ช่างศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น สะท้อนผลชั้นเรียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะศักดิ์ ปักโคทานัง รักษาการแทนรองผู้อำนวยการสถาบันฯ รองศาสตราจารย์จุมพล ราชวิจิตร และผู้ช่วยศาสตราจารย์เขม เคนโคก
ส่วนกิจกรรมในวันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม 2563 เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเขียนแผนการสอนตามแนวทาง Kyozai Kenkyu ในการใช้การศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิด” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ช่างศรี
นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมการรับชมวิดีทัศน์การเปิดชั้นเรียน กิจกรรมถาม-ตอบ และสะท้อนผลในการอบรมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมอบรมออนไลน์ จำนวน 25 คน ที่ทางกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาคัดเลือกจากผู้สมัครกว่า 100 คน นอกจากนั้น ยังมีผู้เข้าร่วม ณ อาคารสถาบันฯ ประกอบด้วย ผู้บริหารและบุคลากรสถาบันฯ บุคลากรศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา บุคลากรมูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการคิด อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ และนักศึกษาสาขาวิชาคณิตศาสตรศึกษา รวมจำนวนกว่า 30 คน และยังมีผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิจัยจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จำนวน 4 คน นำโดย ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า เข้าร่วมสังเกตการณ์การอบรมด้วย
Scroll to Top