สำนักข่าว: ประชาไท
URL: https://prachatai.com/journal/2020/08/88889
วันที่เผยแพร่: 3 ส.ค. 2563
นักวิชาการเผยสถานการณ์ ‘โรงไฟฟ้าชีวมวล’ พบภาคอีสาน 15 จังหวัด มีโรงไฟฟ้าจ่ายไฟเข้าระบบแล้ว 71 บริษัท หวั่นชาวบ้านอ่วมสารเคมี เหตุแผนพลังงานทดแทนฯ เพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอีกกว่า 6 ล้านไร่ ด้าน สช.ผนึกภาคีจัดทำ “ข้อเสนอเชิงนโยบาย” จากการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
3 ส.ค.2563 กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า สช. จัดเวทีนำเสนอ “ข้อเสนอเชิงนโยบายจากการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) กรณีการผลิตไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองต่อสถานการณ์ ผลกระทบ และข้อจำกัด ซึ่งจะนำไปประกอบการจัดทำนโยบายสาธารณะ และขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม เพื่อวิเคราะห์และคาดการณ์ผลกระทบต่อสุขภาพทั้งเชิงบวกและลบ รวมถึงปัจจัยทางสังคมที่ผลกระทบต่อสุขภาพ (ปัจจัยกำหนดสุขภาพ) โดยจะใช้ข้อมูลจากแต่ละพื้นที่เป็นตัวตั้ง
สุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในกระบวนการจัดทำ HIA จะมีการนำเครื่องมือที่หลากหลายเข้ามาช่วยวิเคราะห์ มีการนำกระบวนการการมีส่วนร่วมของพื้นที่เข้ามาใช้ มีการคาดการณ์ผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบโดยมีปัจจัยกำหนดสุขภาพของพื้นที่เป็นตัวกำหนด ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายที่มีทางเลือกหลากหลายทิศทาง และทางเลือกเหล่านั้นก็จะนำไปสู่การตัดสินใจว่าจะเลือกทางเลือกใด
ในส่วนของข้อเสนอเชิงนโยบายซึ่งผ่านการขัดเกลาและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากในพื้นที่มาเป็นระยะแล้วนั้น เมื่อผ่านการพูดคุยและให้มุมมองจากผู้ที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้แล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการผลักดันเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจ โดยจะเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เพื่อพิจารณานำเสนอต่อไปยังคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ต่อไป” สุทธิพงษ์ กล่าว
ถัดจากนั้น ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนมุมมองต่อสถานการณ์ โดย วิจิตรา ชูสกุล ผู้จัดการมูลนิธิพัฒนาอีสาน กล่าวถึงสถานการณ์พลังงานในพื้นที่ภาคอีสานว่า ส่วนใหญ่จะเป็นพลังงานชีวมวล ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จ่ายไฟเข้าระบบแล้ว 71 บริษัท กระจายตัวอยู่ใน 15 จังหวัด มีกำลังการผลิตติดตั้ง 948.55 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตที่ขาย 595.13 เมกะวัตต์ ส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่ตั้งไว้ 15% นั้น ทุกวันนี้ภาคอีสานมีอยู่กว่า 47% โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2025) ได้กำหนดเอาไว้ว่า ในปี 2565 จะมีการผลิตไฟฟ้าชีวมวลทั่วประเทศเพิ่มขึ้นถึง 3,700 เมกะวัตต์
“ภาคอีสานถือเป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำรองจากภาคกลาง แต่ปัจจุบันพื้นที่ถูกเปลี่ยนไปเพื่อผลิตอ้อยจำนวนมาก เรากำลังเป็นห่วงว่าจากสัดส่วนพลังงานชีวมวลที่จะเพิ่มขึ้นนั้น ยิ่งทำให้ต้องใช้พื้นที่ในภาคอีสานปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น ซึ่งตามแผนแล้วจะต้องใช้พื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มจากเดิม 10 ล้านไร่ เป็น 16 ล้านไร่ ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือปัญหาสารเคมีในดิน” วิจิตรา กล่าว
รศ.ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงผลกระทบในมิติสุขภาพว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลจะทำให้เกิดฝุ่น อยู่ระหว่าง 30-80 มิลลิกรัมต่อกิโลวัตต์ไฟฟ้า และจากการเก็บข้อมูลเชื้อเพลิงและเถ้าบริเวณปกปล่องโรงไฟฟ้าไปตรวจวิเคราะห์ พบว่ามีทั้งสารก่อมะเร็ง PAHs ซัลเฟอร์ไดออกไซด์หรือกรดกำมะถันที่จะทำลายขนในระบบทางเดินหายใจ ออกไซด์ของไนโตรเจน ที่จะสร้างความระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ตลอดจนสารอินทรีย์ระเหย และฝุ่นละออง
าน ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การตัดสินใจเชิงนโยบายก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ผ่านมา มี 2 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ 1. การตัดสินใจก่อสร้างไม่ได้มีการจัดทำรายงานประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) 2. การใช้ช่องโหว่ของกฎหมายหลบเลี่ยงการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น เมื่อกฎหมายกำหนดให้ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในโครงการโรงไฟฟ้าขนาดตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป เจ้าของโครงการก็จะเสนอก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 9.9 เมกะวัตต์ หลายๆ โรงแทน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาและปรับปรุงข้อเสนอเชิงนโยบายจากการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) เพื่อลดผลกระทบจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีด้วยกัน 7 ประเด็นใหญ่ ครอบคลุมการบูรณาการการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้กำกับดูแล ผู้ประกอบการ ประชาชน และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาเชิงระบบโดยให้ความสำคัญกับสุขภาวะของประชาชนในทุกมิติ
าทิ การเสนอให้มีการจัดทำ SEA ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน การสร้างกลไกกลางเพื่อทำหน้าที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน การพิจารณาอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลทุกขนาดต้องใช้ข้อมูลการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA/CHIA) ประกอบกับ EIA/EHIA ตลอดจนนำหลักการ Business & Human Rights มาใช้ กล่าวคือ เมื่อเกิดความเสียหายต้องมีการชดเชยเยียวยาทันที